'การบินไทย' ลุยแผนฟื้นฟูกิจการ รื้อโครงสร้างผู้บริหาร รีไฟแนนซ์หนี้ 3.5 แสนล้าน

'การบินไทย' ลุยแผนฟื้นฟูกิจการ รื้อโครงสร้างผู้บริหาร รีไฟแนนซ์หนี้ 3.5 แสนล้าน

“ชาญศิลป์” เร่งทำแผนฟื้นฟูเสนอศาล 17 ส.ค.นี้ เผยเตรียมปรับโครงสร้างหนี้ 3.5 แสนล้าน โยก 2 ผู้บริหารระดับสูงเปิดทางลุยแผนฟื้นฟู วาง 4 กลยุทธ์ จัดโครงสร้างใหม่เขย่าเส้นทางบิน แยกหน่วยธุรกิจ ลดไซส์องค์กร

ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งแรกในวันที่ 17 ส.ค.2563 โดยศาลล้มละลายกลางได้เปิดให้เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียรับทราบและหากประสงค์คัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในวันที่ 13 ส.ค.2563

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการการบินไทย ในฐานะรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยนั้น ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 ซึ่งศาลล้มละลายกลางกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้ว ซึ่งการบินไทยกำลังจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อยื่นศาลล้มละลายกลาง 

ทั้งนี้ หากไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะส่งผลให้การบินไทยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อการบินไทย เจ้าหนี้ พนักงานการบินไทย ผู้ลงทุน ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยต้องได้รับการยอมรับและความเชื่อถือจากทุกภาคส่วน ทั้งลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ พันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ รวมถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร ซึ่งทำให้บริษัทจำเป็นต้องว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านต่างๆ ในระดับโลก เพื่อมาช่วยดำเนินการให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้เรียบร้อย

159516533826

เตรียมรายงานคืบหน้าแผนฟื้นฟู

รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า ที่ผ่านมาการบินไทยยังไม่ได้รายงานความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการให้กับคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหา การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาล ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพราะร่างแผนฟื้นฟูกิจการยังไม่ได้ข้อสรุป และคาดว่าจะรายงานต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ต้นเดือน ส.ค.นี้ ก่อนศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนครั้งแรก

ในขณะที่การเจรจากับเจ้าหนี้ถือว่ามีความคืบหน้าที่ได้เจรจาทั้งเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน สถาบันการเงินและเจ้าหนี้น้ำมัน ซึ่งการบินไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาเจ้าหนี้ เพราะเป็นทิศทางการทำงานกรณีแผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบ รวมทั้งจะเห็นทิศทางของเจ้าหนี้ต่อแผนฟื้นฟูกิจการ โดยถ้าเจ้าหนี้มีท่าทีที่ดีในการเจรจาก็มีแนวโน้มที่เจ้าหนี้จะเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ

โยกผู้บริหารระดับสูง2ราย

ในขณะที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ 6 คน ที่เป็นกรรมการการบินไทยด้วย จะมีบทบาทสำคัญในการทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยในแผนฟื้นฟูกิจการจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งที่ผ่านมาคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูได้เสนอคณะกรรมการการบินไทยทยอยปรับตำแหน่งผู้บริหารการบินไทยไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการ

ล่าสุดคณะกรรมการการบินไทยเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2563 มีมติแต่งตั้งผู้บริหารดังนี้

1.นายณัฐพงศ์ สมิตอำไพศาล พ้นจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและบัญชี ไปดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เพื่อการฟื้นฟูกิจการ (การแยกบัญชีการเงินของหน่วยธุรกิจ)

2.แต่งตั้งนายชาย เอี่ยมศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปิโตรเลียม ประกันภัยและสิ่งแวดล้อมการบิน เป็นรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและบัญชี อีกหนึ่งตำแหน่ง

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2563

เร่งเจรจาลดเงินต้น-ดอกเบี้ย

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาล โดยสำหรับช่องทางฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 ได้ชี้แจงถึงปัญหาทางการเงินล้นพ้นตัว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่รุนแรง ประกอบกับข้อจำกัดและความไม่คล่องตัวในการบริการจัดการเนื่องจากเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นเหตุให้กำไรต่อหน่วยของการบินไทยลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธุรกิจของการบินไทยมีพื้นฐานที่แข็งแรง และมีศักยภาพที่ดีทุกด้าน พร้อมต่อยอดและสร้างรายได้ให้องค์กรเพื่อนำไปชำระหนี้สิน หากการบินไทยได้รับการฟื้นฟูกิจการ และได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระโดยการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทุน โครงสร้างองค์กรด้วยวิธีที่เหมาะสม ทั้งนี้การบินไทยได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น 2 ส่วน คือ

1.การบินไทยจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจเจรจากับเจ้าหนี้รายต่างๆ เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ยลงทั้งหมดหรือบางส่วน หรือพักการชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย ขอรีไฟแนนซ์ หรือปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับโครงสร้างทุนในรูปแบบอื่นตามความเหมาะสม ตลอดจนอาจกำหนดให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม โดยอาจขอสินเชื่อหรือเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการรเงิน นักลงทุน หรือพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำมาปรับปรุงกิจการหรือต่อยอดธุรกิจ

รวมทั้งแผนฟื้นฟูกิจการอาจกำหนดให้ผู้บริหารแผนทำนิติกรรมสัญญาเพื่อจัดการทรัพย์สินและกิจการเพื่อให้การบินไทยดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เจ้าหนี้ทั้งหมายจะได้รับชำระหนี้มากกว่าการปล่อยให้การบินไทยล้มละลายแน่นอน

ทั้งนี้ มูลหนี้ที่การบินไทยระบุในคำขอฟื้นฟูกิจการอยู่ที่ 352,494 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 104,669 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 247,824 ล้านบาท

2.การบริหารจัดการกิจการของการบินไทย เนื่องจากการดำเนินธุรกิจมีต้นทุนสูงไม่เพียงพอต่อรายได้ การบินไทยจึงมีความจำเป็นจ้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร ตลอดจนหน่วยธุรกิจต่างๆ เพื่อความคล่องตัวและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น

ยกเลิกเส้นทางบินกำไรต่ำ

ทั้งนี้ การบินไทยสรุปแนวทางบริหารจัดการกิจการให้ศาลพิจารณาในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ดังนี้ 

1.การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบิน โดยอาจพิจารณาบริหารจัดการหรือยกเลิกเว้นทางที่กำไรต่ำหรือไม่สามารถปรับปรุงให้ทำกำไรให้แก่การบินไทยได้ในอนาคต เพื่อลดกำลังการผลิต ลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจปรับปรุงการบริหารจัดการเส้นทางบินให้เหมาะสมและเพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขัน และอาจปรับปรุงการบริหารจัดการหรือปรับลดประเภทเครื่องบินในฝูงบิน

2.การปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน เพื่อให้ลูกหนี้มีความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเติบโตต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคงและยั่งยืน โดยอาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างในหน่วยธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไร เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น จัดตั้งบริษัทย่อย การจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมทุน หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพหน่วยธุรกิจให้พึ่งพาตนเองได้

3.การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ โดยอาจปรับปรุงช่องทางขายบัตรโดยสาร เพิ่มช่องทางอินเตอร์เน็ต ปรับโครงสร้างค่าตอบแทน เงื่อนไขและการประเมินผลงานตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสาร นอกจากนี้ ยังปรับปรุง พัฒนาและเพิ่มการหารายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น บริการลูกค้าภาคพื้นแบบครบวงจร ซ่อมและบำรุงอากาศยานและเครื่องยนต์ ธุรกิจครัวการบิน

4.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ ลดกระบวนการซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น โดยอาจปรับจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับจำนวนฝูงบินและกำลังการผลิต เพื่อให้กำลังคนสอดคล้องกับความสามารถในการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายและกำลังการผลิต ตลอดจนปรับสิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนของพนักงานให้เหมาะสมตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน

ทั้งนี้ แนวทางปรับโครงสร้างหนี้และการปรับปรุงการบริหารจัดการกิจการที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงแนวทางในเบื้องต้นเท่านั้น ในการจัดทำแผนฟื้นฟูและปรับปรุงบริหารจัดการ โดยการบินไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในองค์กร ตลอดจนปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ แนวโน้มอุตสาหกรรม นโยบายรัฐ จำนวนหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้ ตลอดจนสาระสำคัญของหนี้แต่ละรายที่มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ทำแผนจะต้องตรวจสอบรายละเอียดและความเป็นได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการบนหลักการที่ว่าแผนฟื้นฟูของการบินไทย จะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และจะต้องได้รับชำระหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่การบินไทยล้มละลายอย่างแน่นอน