เปิดเบื้องหลัง ทวงคืนศักดิ์ศรีสู่ ‘ซีอุย’ 

เปิดเบื้องหลัง ทวงคืนศักดิ์ศรีสู่ ‘ซีอุย’ 

ย้อนรอย เบื้องหลังการทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่ “ซีอุย” โดยชายหนุ่มผู้ไม่ได้เป็นทั้งญาติ ไม่เคยรู้จักกัน แต่กลับลุกขึ้นเรียกร้องขอคืนความเป็นธรรมแก่ ชายผู้ถูกกล่าวขานว่าเป็น “มนุษย์กินคน” 

ตามที่เรือนจำกลางบางขวาง กรมราชทัณฑ์ ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลว่า จะจัดพิธีฌาปนกิจศพ นายลีอุย แซ่อึ้ง หรือ ซีอุย ในวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ณ วัดบางแพรกใต้ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี และทั้งนี้ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เรียนเชิญชาวบ้านทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฌาปนกิจศพนายลีอุย หรือซีอุย แซ่อึ้ง ในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวด้วยนั้น

159523374828

น่าจะถือเป็นบทสรุปของการทวงคืน “ศักดิ์ศรี” ให้แก่ชายผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็น “มนุษย์กินคน” อย่างเสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากไม่ว่าจะกระทำผิดจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่ควรมีใครถูกจองจำกับตราบาปทั้งที่ได้รับโทษสูงสุดไปแล้ว

สำหรับประวัติของ นายลีอุย แซ่อึ้ง หรือ หลีอุย แซ่อึ้ง ที่รู้จักกันในชื่อ “ซีอุย” ผู้นี้ แม้ในหมู่คนรุ่นใหม่อาจไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ แต่ถ้าถามคนยุคก่อนหน้า ตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ จนถึงเจนวายช่วงต้น ต่างน่าจะเคยได้ยินชื่อของชายคนนี้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็ต้องเคยถูกขู่ในยามซนว่า “ระวังซีอุยจะมากินตับ”

แม้คดีความที่ว่า ซีอุย ได้ฆ่าคนและนำอวัยวะภายในมาทานนั้น จะปิดแฟ้มแบบเต็มไปด้วยความเคลือบแคลง (ชาวบ้านต่างยืนยันว่า นายลีอุยเป็นบุคคลยิ้มแย้ม ขี้อาย และไม่มีวี่แววของความอันตราย) แต่เขากลับจำต้องยอมรับความเป็นเจ้าของสมญานาม “มนุษย์กินคน” ไปแบบไม่อาจปฏิเสธ 

159523380410

กระทั่งยามเสียชีวิตไปแล้ว (ถูกประหารชีวิตเมื่อ 16 ก.ย. 2502) ศพของเขาก็ได้ถูกนำมาผ่าตรวจสอบ “สมอง” เพื่อค้นหาความผิดปกติ โดย ศ.นพ.สงกรานต์ นิยมเสน หัวหน้าหน่วยนิติเวชวิทยา ในแผนกพยาธิวิทยา โรงพยาบาลศิริราช (ศ.นพ.สงกรานต์ เป็นผู้บุกเบิกวิชานิติเวชศาสตร์ในไทย) ก่อนจะทำการ “ดองแห้ง” และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย" (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำร่างนายลีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว เมื่อ ส.ค. 62)

ตลอดกว่า 60 ปีที่ศพของ “ซีอุย” ได้จัดแสดง (พร้อมป้ายอธิบายว่า นี่คือศพมนุษย์กินคน) นั้น เรื่องราวตำนานของชายคนนี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามเวลา กระทั่งกลับมาอยู่ในความสนใจของคนในสังคมอีกครั้ง เมื่อมีผู้รณรงค์เสนอแคมเปญล่ารายชื่อในเว็บไซด์ Change.org ในหัวข้อ “นำร่าง ซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน” ในเดือน พ.ค. ปี 2562 

ที่น่าสนใจก็คือ ฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของแคมเปญผู้เรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับซีอุย รับรู้เพียงเรื่องเล่าข่าวลือ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะทวงคืนความเป็นธรรมให้กับชายชาวจีนที่เสียชีวิตไปเมื่อ 60  ปีที่แล้ว

จากบทสัมภาษณ์ “ฟาโรห์ จักรภัทรานน” โดย กนกพร โชคจรัสกุล ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกาย เมื่อ 23 พฤษภาคม 2562 เล่าถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเรียกร้องดังกล่าว.. 

 

 



  • อย่าดื้อนะ เดี๋ยว ‘ซีอุย’ กินตับ

เด็กๆ หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ ‘ซีอุย’ พร้อมคำขู่ในลักษณะนี้ ฟาโรห์ก็เช่นกัน 

“ตั้งแต่เด็กๆ หลายๆ คน ทั้งยุคผม ยุคก่อนหน้าผม จะได้รับคำขู่มาจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองว่า อย่าดื้อนะ อย่าร้องไห้นะ อย่าไปไหนคนเดียวนะ เดี๋ยวซีอุยจับไปกินตับ เราก็มีความกลัว แต่สงสัยมากกว่าว่า ซีอุยเป็นใคร ทำไมต้องกินตับ พอโตขึ้นได้รับข่าวสารของซีอุยผ่านทางหนังสือ ผ่านทางภาพยนตร์ ก็รู้ว่าเขาเป็นมนุษย์กินคน เขาฆ่าเด็กแล้วเอาตับกับหัวใจไปกิน เราเข้าใจว่าเขาฆ่าเด็กไปถึง 7 คน โดนจับ สุดท้ายก็ประหารชีวิต แล้วศพก็ถูกเอาไปเก็บไว้ที่ศิริราช” เขาเล่า

โดยเขาได้มาเห็นซีอุยกับตา ก็ตอนอายุ 10 ขวบกว่าๆ เมื่อผู้ปกครองพามาดูซีอุยที่ศิริราช 

“ครั้งแรกที่ไปดู ดูด้วยสายตา ไม่ใช่ลักษณะโกรธแค้น เกลียดชัง หรือกลัว แต่เป็นลักษณะ อ๋อ มนุษย์กินคน ชื่อก็บอก เขียนไว้ หนังสือ Audio Book ที่เราใส่หูฟังเดินตามพิพิธภัณฑ์ในศิริราชก็เล่าเรื่องราวว่าเขาคือ มนุษย์กินคน” เขาเล่า

159523433237

จนกระทั่งหลังจากได้ดูรายการ ‘บางอ้อ’ ทางไทยพีบีเอส เมื่อสิบปีก่อน กระตุ้นความสนใจให้ฟาโรห์กลับมาหาข้อมูลเรื่องนี้อีกครั้งในประเด็นใหม่

"สิ่งที่เราได้เห็นได้ฟังทำให้เรารู้สึกตกใจว่ามันมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า สิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาตลอดช่วงวัยเด็กอาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ในรายการเขามีข้อมูลค่อนข้างละเอียด ทั้งเรื่อง ทั้งบทสัมภาษณ์ของเหยื่อบางราย บางคนเป็นพ่อเป็นแม่ของเหยื่อกลับบอกว่า ซีอุยไม่ได้ทำ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันน่าสงสัย ทำให้ไปศึกษาเพิ่ม"

หลังจากหาข้อมูลและเก็บรวบรวมมาเรื่อยๆ ก็ได้มาดูรายการความจริงไม่ตาย (2561) ทางไทยพีบีเอส นำเสนอเรื่องซีอุยในชื่อว่า ปลดพันธนาการซีอุย

หลังจากได้ดู ฟาโรห์ก็มีกำลังใจ และหวังว่า แรงขับเคลื่อนจากสื่อใหญ่ จะช่วยสร้างอิมแพ็ต และสามารถเอาซีอุยออกจากตู้โชว์ หรือลบล้างชื่อมนุษย์กินคนได้ แต่ก็กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามมา 

  • โอเค...งั้นผมทำเอง

ในที่สุดฟาโรห์ก็ได้กลับไปดูซีอุยอีกครั้ง ในช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

"เราไม่ได้มองเขาด้วยสายตาแบบเดิม ไม่ได้มองเขาเป็นมนุษย์กินคนแบบตอนเด็ก เรามองเขาด้วยสายตาว่าเขาคือเหยื่อของการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พอเรารู้ข้อมูลอีกด้าน เราก็มองเขาในความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม มันเป็นการกระทำที่เกินเลยไปหน่อย สิ่งสิ่งนี้ที่อยู่ตรงหน้าเรามันเป็นความไม่เป็นธรรม”

บ้านเราทุกวันนี้การเคารพเรื่องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ มีอีกหลายแง่มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุ้มหายในคดีการเมือง หรือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของโรฮิงญา แต่ละเรื่องมีคนทำแล้ว แต่เรื่องซีอุยไม่มีใครแคร์

เมื่อสะสมข้อมูลมากพอ บวกกับการตั้งคำถามเรื่องความไม่เป็นธรรม แต่กลับยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ ทำให้เขารู้สึกว่า “โอเค...งั้นผมทำเอง”

"เหตุผลที่ต้องจริงจังเพราะผมเห็นว่าบ้านเราทุกวันนี้การเคารพเรื่องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ มีอีกหลายแง่มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุ้มหายในคดีการเมือง หรือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของโรฮิงญา แต่ละเรื่องมีคนทำแล้ว แต่เรื่องซีอุยไม่มีใครแคร์

ถ้าเราเป็นคนทำตรงนี้ สังคมก็จะเริ่มถกเถียงเรื่องความเป็นมนุษย์อย่างที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้ จึงเกิดเป็นกระแสขึ้นมาว่า กรณีที่เขาผิดจริง โทษประหารเพียงพอหรือยังกับผลที่เขาได้ก่อขึ้น แล้วการเอาร่างมาประจาน เท่าที่ผมอ่านมาไม่เคยเจอในกฎหมายฉบับไหนที่ประหารเสร็จแล้วต้องเอาร่างมาแขวนไว้แบบนั้น”

..เขายืนยันว่า ไม่ได้ต้องการไปรื้อฟื้นคดีเก่าๆ หรือหาว่าใครเป็นฆาตกรตัวจริง แต่สิ่งที่ต้องการ คือ การที่ซีอุยอยู่ในตู้กระจก ไม่ว่าเขาจะเป็นแพะหรือเป็นฆาตกรจริงๆ เขาไม่ควรถูกเอาร่างไปไว้อย่างนั้น

"เขาไม่ควรถูกตีตราว่าเป็นมนุษย์กินคนโดยที่เราไม่มีพยานหลักฐานว่าเขาเป็นมนุษย์กินคน หรือถ้าใครมีหลักฐานว่าเขาเป็นผมก็ยินดีที่จะร่วมถกเถียงด้วย"

สำหรับเป้าหมายของโปรเจคนี้คือ การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดแสดงร่างของซีอุย โดยนำร่างของเขาไป “ฌาปนกิจ” แล้วเผยแพร่ข้อเท็จจริงอีกด้านให้สังคมรับรู้

มาจนถึงตอนนี้ แม้ว่าแคมเปญของ ฟาโรห์ จะไม่สามารถรวบรวมรายชื่อได้ครบตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ที่สุด.. เมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ปลดป้ายมนุษย์กินคนออก และต่อมาได้ปลดร่างของซีอุยลงจากการจัดแสดง กระทั่งนำมาสู่ กำหนดการ “ฌาปนกิจ” นั้น ก็น่าจะก็อาจกล่าวได้ว่า แคมเปญรณรงค์นี้ไปถึงปลายทางแล้ว.

 

อ้างอิง :  จากความกลัวสู่คำถาม...เปิดใจ 'ฟาโรห์’ ผู้ทวงความเป็นธรรมให้ ‘ซีอุย’