บอร์ดสิ่งแวดล้อมไฟเขียวรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ

บอร์ดสิ่งแวดล้อมไฟเขียวรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ

บอร์ดสิ่งแวดล้อมผ่านEHIA รันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ 2.1 หมื่นล้าน พร้อมไฟเขียว EIA โครงการขนาดใหญ่คมนาคมหลายโครงการ “ประวิตร” เร่งเดินหน้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (20 ก.ค.) ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณารายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางด้านสุขภาพในโครงการที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในแผนการลงทุนที่สำคัญของประเทศหลายโครงการซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อขออนุมัติก่อสร้างต่อไป

สำหรับโครงการที่ผ่านมาการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้แก่ โครงการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 - 4 สนามบินสุวรรณภูมิของ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.โดยคณะกรรมการฯมอบหมายให้ ทอท.ไปดำเนินการในเรื่องการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 1 - 2 ที่ยังคงเหลือผู้ที่ยังไม่ได้เยียวยาอีกประมาณ 5 % รวมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากเสียงที่เกิดขึ้นจากการขึ้นลงของอากาศยานด้วย

สำหรับโครงการรันเวย์แห่งที่ 3 และ 4  ของสนามบินสุวรรณภูมิมีความยาวทั้งสิ่้้น 4,0000 เมตรโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ ทอท.ลงทุนก่อสร้างรันเวย์แห่งที่ 3 ในวงเงิน 2.17 หมื่นล้านบาท ขณะที่รันเวย์ที่ 4 อยู่ในแผนการขยายสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต โดยภายหลังจากที่ผ่านความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯเห็นชอบ EHIA ในครั้งนี้จะทำให้โครงการนี้เริ่มก่อสร้างได้ และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้สุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการได้ปีละ 90 ล้านคน

นางรวีวรรณกล่าวว่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลายโครงการ เช่น 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทาง ถนนจิระ(นครราชสีมา)-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.6 กิโลเมตร วงเงิน 3.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนเช่นเรื่องเสียง แรงสั่นสะเทือน และให้มีจุดทางรอดของสัตว์ป่าด้วย

2.โครงการปรับปรุงสนามบินจ.ตรัง ของกรมท่าอากาศยาน วงเงิน 2,300 ล้านบาท เพื่อให้มีความยาวรันเวย์เพิ่มขึ้นเป็น 2,990 เมตร ซึ่งเพียงพอจะรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่เดินทางมาจากยุโรปได้

3.โครงการถนนวงแหวนรอบนอก  จ.นครราชสีมา วงเงินลงทุน 3.3 พ้นล้านบาท ซึ่งเห็นชอบผลการศึกษา EIA แต่มอบหมายให้กรมทางหลวงไปพิจารณาเรื่องลดจุดตัดที่มีความเสี่ยงระหว่างกม.ที่ 205 กับ กม.226 และหารือกับกรมศิิลปากรเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดกับโบราณสถานที่ถนนเส้นนี้ตัดผ่านด้วยเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

 นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ผ่าน EIA ได้แก่  โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากFSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ,การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษ จากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 และการปรับปรุงมาตรฐานระดับเสียงของรถจักรยานยนต์

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตรได้กำชับให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้กำกับ ติดตามโครงการต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว และเร่งรัดให้กระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบ นำเสนอโครงการตามขั้นตอน อย่างเร่งด่วนเพื่อให้โครงการ บรรลุผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรม มุ่งลดผลกระทบต่อปชช.และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ต้องให้ปชช.มีส่วนร่วม ได้รับความพึงพอใจและประโยชน์โดยตรง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลต่อไป