สุดเจ๋ง! เด็กกำเนิดวิทย์” คว้าแชมป์นวัตกรรมGPSC
"เด็กกำเนิดวิทย์"คว้าแชมป์นวัตกรรมระดับเยาวชน "GPSC Young Social Innovator 2019" พัฒนาเเบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสีผลิตจากข้าวเหนียว ด้าน GPSC เล็งหนุนผลงานสู่เวทีนานาชาติ
วันนี้ (20 ก.ค. 2563) นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กล่าวในงานประกาศผลคัดเลือก โครงงานเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” ว่าโครงการดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงงาน และใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ กระบวนการ ที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน
รวมถึงสามารถนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ท้องตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises)
ทั้งนี้ ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้ดำเนินการ โดยขยายพื้นที่การรับสมัครนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่าและนักศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบ 5 โครงงานสุดท้าย จะได้รับประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ มีการส่งผลงานเข้าประกวดฯ 158 โครงงาน และมีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 30 โครงงาน โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ 4 โครงงาน ภาคกลาง 7โครงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงงาน ภาคตะวันออก 9 โครงงาน และภาคใต้ 4 โครงงาน ซึ่งมี 5 โครงงาน ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย
โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Better life battery โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จากผลงาน การพัฒนาเเบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศ ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา50,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 จะได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา30,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา20,000 บาท และทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัคร GPSC Young Social Innovator 2020 หรือ GPSC YSI ซีซั่น 3 ซึ่งมีความพิเศษมากกว่าปีอื่นๆ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณถ้วยพระราชทาน จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการตื่นตัวในการดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์วิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal
น.ส.กนก ศิริลัภยานนท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ทีมชนะเลิศจากผลงานการพัฒนาแบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว กล่าวว่า ยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีความสำคัญกับชีวิตโดยเฉพาะโทรศัพท์ที่ต้องใช้แบตเตอรี่ เนื่องด้วยการเรียนออนไลน์ก็มีความสำคัญ จึงคิดว่าต้องพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการให้ใช้งานได้นานขึ้น จึงได้คิดค้นการใช้งานแบตเตอรี่ชนิดใหม่ให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้นถึง3-4เท่า อยู่ได้นานถึง4วัน
โดยการเลือกใช้ข้าวเหนียวเป็นขั้วแทนหัวของแบตเตอรี่ และได้พัฒนาข้าวเหนียวให้มีรูพรุนมากขึ้น มีคุณสมบัติใช้งานได้จริง ใช้ระยะเวลาในการคิดค้นนาน2ปี ทุกขั้นตอนได้ทำงานเองหมดจนพัฒนามาเป็นแบตกระดุม ต่อไปในอนาคตจะพัฒนาเป็นพาวเวอร์แบงค์ เพื่อรองรับอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ และยังได้เพิ่มมูลค่าของข้าวเหนียวให้กับเกษตรกรได้