ใช้สิทธิ 'ชุมนุม' ประท้วงอย่างไร ไม่ผิดกฎหมายไทย
เสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพในการพูด คือสิทธิที่เราสามารถที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความคิดหรือความเห็นได้ ซึ่งนับเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายขั้นพื้นฐาน แต่ก็มีเงื่อนไขและข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่ได้ครอบคลุมในเสรีภาพการแสดงออก
การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดเเอก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ผ่านมานับว่าเป็นกิจกรรมการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากประเทศไทยถูกแช่แข็ง อยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 6 เดือน
วัตถุประสงค์หลักๆ ของการชุมนุมเยาวชนปลดเเอก คือการแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้มีการยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้น
โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดการชุมนุม มีทั้งการเปิดไฟส่องไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเล่นดนตรีโดยศิลปิน Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลงประเทศกูมี และมีการปราศรัยจากแกนนำกลุ่มเยาวชนปลดเเอกอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้การชุมนุมเริ่มกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo มมส. มหาสารคาม #อีสานสิบ่ทน อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี สมุทรปราการ แพร่ ทั้งนี้การชุมนุมที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้างถึงความถูกต้องตามหลักกฎหมาย รวมถึงการแสดงออกในที่สาธารณะ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงพาไปทำความเข้าใจเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) ว่าคืออะไร พร้อมเปรียบเทียบเงื่อนไขหรือข้อจำกัดของเสรีภาพนี้ผ่านกฎหมาย ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา
- เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression)
เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือiLaw นิยามไว้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง สิทธิที่เราสามารถที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่นๆ เช่น เสียงเพลง ภาพถ่าย ภาพกราฟิกหรือภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ
นอกจากนี้ยังรวมถึงสิทธิในการค้นคว้า หา เข้าถึงหรือได้รับข้อมูล ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่ด้วย
- สำคัญอย่างไร
ในระดับปัจเจกบุคคล เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกทำให้คนแต่ละคนสามารถแสดงตัวตนออกมาได้ แม้เป็นไปด้วยความแตกต่างจากคนอื่นและเงื่อนไขของสังคมนั้น ไม่ว่าจะผ่านการแต่งตัว การเขียนสเตตัสบนเฟซบุ๊ค หรือ การแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเผชิญความไม่เป็นธรรม และ/หรือ กระบวนการยุติธรรมในประเทศไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมารับผิดชอบได้ เช่น เมื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นเรียกรับสินบนหรือข่มขู่ เสรีภาพการแสดงออกที่จะโพสต์เรื่องราวนั้นลงสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมย่อมเป็นสิ่งจำเป็นและควรได้รับความคุ้มครอง
เช่นเดียวกัน ในระดับชุมชนหรือสังคมระดับประเทศ เสรีภาพในการแสดงออกคือเครื่องมือสำคัญที่คนในชุมชนใช้ในการสื่อสารกับรัฐเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงหรือป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำ
นอกจากนี้เสรีภาพการแสดงออกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้โลกเกิดการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในทางวิชาการและผลประโยชน์สาธารณะโดยทั่วไป เพราะการที่มีคนหลายฝ่ายนำความคิดหรือข้อเสนอที่แตกต่างกันมาอภิปรายอย่างเสรีและกว้างขวาง ย่อมชี้นำไปสู่ทางเลือกในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาที่กว้างไกลและมีประสิทธิภาพมากกว่า
- ประวัติศาสตร์ของเสรีภาพการแสดงออก
การออกบัญญัติแห่งสิทธิ (Bill of Rights) ในอังกฤษเมื่อปี 1689 (2232) น่าจะเป็นครั้งแรกที่เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกได้รับการรับรองในฐานะสิทธิตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้จำกัดอยู่ในสภาเท่านั้นไม่ได้เป็นการรับรองสิทธิของพลเมืองโดยทั่วไป
เอกสารทางการชิ้นแรกๆ ที่รับการรับรองเสรีในการพูดและการแสดงออกในฐานะสิทธิพลเมืองของประชาชนทั่วไป น่าจะเป็นในบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับที่ 1 (the first amendment) และในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศส (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) มีข้อน่าสังเกตว่าการรับรองเสรีภาพในการแสดงออกทั้งในกรณีของสหรัฐอเมริกาและในฝรั่งเศส ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งใหญ่
กรณีของสหรัฐคือการสู้เพื่อเป็นอิสระจากการปกครองของอังกฤษ ส่วนกรณีของฝรั่งเศสคือการต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจและสิทธิของชนชั้นล่าง อย่างไรก็ตามด้วยพัฒนาการทางการเมืองในสมัยนั้น เสรีภาพในการแสดงออกทั้งในกรณีของสหรัฐและฝรั่งเศสก็ยังคงไม่ได้ครอบคลุมประชาชนโดยทั่วไป เช่น ทาสในสหรัฐอเมริกาหรือประชาชนชาวอาณานิคมของฝรั่งเศสก็ยังไม่น่าจะได้รับการคุ้มครองเสรีภาพนี้ในขณะนั้น
เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ถูกทำให้กลายเป็นคุณค่าในระดับสากลในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล และในกติกาสากลว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับกรณีไทย ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางการเมืองในปี 2539 ซึ่งในการเข้าเป็นภาคี รัฐบาลไทยจะต้องเสนอรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกของประเทศต่อชาติสมาชิกอื่นๆ ซึ่งรายงานดังกล่าวก็จะถูกพิจารณา (review) และหากชาติสมาชิกอื่นพบว่ารัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการเคารพ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น มีการดำเนินคดีผู้ที่ชุมนุมอย่างสันติ หรือมีการออกกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออกของประชาชน รัฐบาลไทยก็จะถูกตำหนิในเวทีโลก
- ไทย VS สหรัฐ ข้อจำกัดเสรีภาพการแสดงออก
เมื่อนึกถึงเสรีภาพการแสดงออกอย่างเต็มที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ถูกนึกถึง สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) ไว้ในรัฐธรรมนูญู และศาลสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้ว่าเสรีภาพดังกล่าวนั้นเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในระบบตลาดเสรี (Free Market of Ideas) ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพย่อมมีขอบเขต เพราะสิทธิเสรีภาพมีความเกี่ยวข้องกับด้านอื่นๆ รวมถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม รัฐจึงสามารถใช้อำนาจในการจัดระเบียบการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกได้ ข้อจำกัดของการแสดงออกที่ไม่ครอบคลุมอยู่ในเสรีภาพการแสดงออกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประเทศสหรัฐอเมริกา (First Amendment of the Constitution of the United States) ประกอบด้วย
- Defamation แปลว่า การหมิ่นประมาท การประกาศถ้อยคำเท็จ สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบุคคลใดๆ
- Causing Panic แปลว่า คำพูดที่สร้างความหวาดกลัว
- Fighting Words แปลว่า คำพูดที่ยุยงให้เกิดการทำร้ายร่างกายและจิตใจ
- Incitement to Crime แปลว่า การกระทำที่ไปกระตุ้นให้ไปก่ออาชญากรรม
- Sedition แปลว่า การปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐบาล หรือ การปลุกระดมมวลชนให้ก่อความไม่สงบรวมไปถึงการก่อกบฎ
- Obscenity แปลว่า การใช้คำพูด, รูปภาพ อนาจาร
- Perjury and Blackmail แปลว่า โกหก
- Offense แปลว่า ก้าวร้าว ข่มขู่
- Establishment of Religion แปลว่า การประกาศหรือดูถูกศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ
สำหรับประเทศไทยเสรีภาพการแสดงออกถูกบัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
แต่ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญาก็มีบัญญัติมาตราที่เกี่ยวโยงถึงเงื่อนไขการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ดังนี้
- ม.112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
- ม.116 ยุยงปลุกปั่น ประชาชนสร้างความเดือดร้อน
- ม.136 ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่
- ม.198 ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี
- ม.206 ดูหมิ่นวัตถุหรือสถานที่เคารพทางศาสนา
- ม.215 ม.216 มั่วสุมก่อความวุ่นวาย
- ม.326 ดูหมิ่นประมาท
- ม.328 ดูหมิ่นประมาทผ่านสื่อ
- ม.393 ดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือผ่านสื่อ
ดังนั้นการที่จะแสดงออกใดๆ ด้วยเสรีภาพนั้นก็ต้องพิจารณาให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขในกรอบการแสดงออกของกฎหมายแต่ละประเทศด้วย
-----------------------
อ้างอิง :
เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพของทุกคน
สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: ความแตกต่างในการวิพากษ์วิจารณ์ ตามหลักกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย โดย พ.ต.อ. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ สถาบัน ILEA
สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดย พงษ์ธวัฒน์ บุญพิทักษ