ดอกเบี้ยแท้จริง (Real Yield) คืออะไร? ทำไมนักลงทุนหุ้น และทอง ต้องรู้!

ดอกเบี้ยแท้จริง (Real Yield) คืออะไร? ทำไมนักลงทุนหุ้น และทอง ต้องรู้!

ทำความเข้าใจ "ดอกเบี้ยแท้จริง" (Real Yield) คืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไรนักลงทุนควรหันมาให้น้ำหนักกับ Real Yield และตัว Breakeven Inflation ให้มากขึ้นในการวิเคราะห์ทิศทางของดัชนีราคาหุ้น และราคาทองคำ?

ปี 2563 เป็นปีที่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบเดิมๆ ใช้การไม่ค่อยได้ ดัชนีราคาหุ้นไม่ได้ปรับขึ้นตามการเติบโตของกำไร แต่กลับสวนทางกันด้วยซ้ำ เช่นในกรณีของสหรัฐฯ ที่กำไรถูกลดประมาณการลงแต่ดัชนีราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นได้ เช่นกันกับการวิเคราะห์ด้วย Valuation ที่ใช้การไม่ได้เช่นกัน เมื่อเราได้พบกับปีที่ Valuation แพงปัจจัยพื้นฐานไม่ดีแต่ดัชนีราคาหุ้นกลับขึ้นเรื่อยๆ และอัตราส่วน P/E Ratio ของตลาดก็ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในภาวะที่ตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยปริมาณเงินที่ไหลเข้าระบบแบบนี้มี Indicators ที่ใช้การได้ดีมากๆ ทั้งในการดูราคาหุ้นและทองนั่นคือการดูผ่าน “อัตราดอกเบี้ยแท้จริง (Real Yield)” และ “อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation)” โดยอัตราดอกเบี้ยแท้จริง (Real Yield) นั้นมีสูตรคือ  

อัตราดอกเบี้ยแท้จริง (Real Yield) = อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Nominal Bond Yield) – Breakeven Inflation

Real Yield นั้นสะท้อนถึงอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่นักลงทุนได้รับจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเมื่อหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นถ้า Real Yield ปรับลดลงจะทำให้ความน่าสนใจของพันธบัตรรัฐบาลลดลงนั่นเอง และจะเป็นตัวกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลออกจากพันธบัตรไปลงทุนในสินทรัพย์ชนิดอื่น

สิ่งที่ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังทำในวันนี้ก็คือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ก็ใช้มาตรการ QE กดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไว้ให้ต่ำๆ ส่งผลให้ Real Yield ปรับตัวลดลง เมื่อเป็นเช่นนั้นนักลงทุนก็จะย้ายเงินจากพันธบัตรรัฐบาลไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นอย่างหุ้นหรือทองคำ

แต่แทนที่การแห่ขายพันธบัตรรัฐบาลจะทำให้ Nominal Bond Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามหลักทั่วไป FED ก็ทำการอัดฉีดเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อเนื่องเพื่อกด Bond Yield ให้คงอยู่ในระดับต่ำต่อไปเป็นกลไกของ QE ที่ทำให้ Real Yield ปรับตัวลดลงนั่นเอง ซึ่งในภาวะที่ธนาคารเปลี่ยนมาเป็นเจ้าภาพของตลาดทุนแบบนี้ นักลงทุนควรหันมาให้น้ำหนักกับ Real Yield และตัว Breakeven Inflation ให้มากขึ้นในการวิเคราะห์ทิศทางของดัชนีราคาหุ้น และราคาทองคำ

159525265264

เมื่อเราดูเหตุการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาเราจะพบว่าในช่วงเดือนมี.ค.2563 ที่ตลาด Panic จากวิกฤติ COVID-19 ระดับ Real Yield ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงภายในระยะเวลาสั้นๆ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อปรับลดลงรุนแรงซึ่งเป็นสภาวะที่สะท้อนการขาดสภาพคล่องในระบบการเงินอย่างหนักและดัชนีหุ้น S&P500 ดิ่งลงอย่างหนัก

ขณะที่เมื่อ FED ตัดสินใจทำ QE และต่อเนื่องมาด้วย Unlimited QE นั้นก็ทำให้ Real Yield ปรับลดลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค. 2563 จนติดลบ ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงิน QE ไหลไปสู่สินทรัพย์ต่างๆ โดยดูได้จากตลาดหุ้น S&P500 ที่ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.2563 แม้ปัจจัยพื้นฐานทั้งเศรษฐกิจ และบริษัทจดทะเบียนจะย่ำแย่

159525271839

ขณะที่เมื่อเราดูความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำกับ Real Yield ก็จะพบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนมากๆ ในช่วงปีนี้ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อ Real Yield ปรับตัวลดลงจาก -0.40% มาที่ -0.6% ราคาทองคำก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 1,700 ไปที่ระดับ 1,800 หลังจากแกว่งตัวไม่ไปไหนที่ประมาณ 1,700 อยู่เกือบ 3 เดือน ซึ่งอธิบายในเชิงทฤษฎีก็ไม่ต่างจากกรณีของหุ้นคือ เมื่อ Real Yield ปรับตัวติดลบมากขึ้นทำให้นักลงทุนขนย้ายเงินออกจากพันธบัตรไปที่สินทรัพย์ลงทุนชนิดอื่นๆ รวมถึงทองคำด้วยนั่นเอง

ในภาวะปกติกระแสเงินจะไหลไปมาระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น กับสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างทองคำ และตราสารหนี้ ถ้าเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นเม็ดเงินก็จะไหลจากตราสารหนี้ไปหาหุ้น เมื่อเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจขาลงเม็ดเงินก็จะไหลจากหุ้นไปเข้าตราสารหนี้ และในภาวะวิกฤติเม็ดเงินก็จะไหลออกจากหุ้นไปสู่สินทรัพย์ตระกูล Safe Haven อย่างทองคำ

แต่ในภาวะที่ธนาคารกลางมีอาวุธพิเศษที่สามารถเป่าลูกโป่งเพิ่มกระแสเงินเข้าไปในระบบการเงินโลกได้นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลทำให้ตราสารหนี้ราคาปรับเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และ Real Yield ปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้สินทรัพย์ชนิดอื่นๆ อย่างทองคำ และหุ้นปรับตัวขึ้นไปด้วยพร้อมๆ กัน ในช่วงที่ผ่านมาเราจึงพบว่าสินทรัพย์หลักทั้งหุ้น พันธบัตร และทองคำเคลื่อนที่ไปในทางเดียวกัน ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้การใช้ Real Yield จะช่วยได้มากในการวิเคราะห์การลงทุน

ถ้า Real Yield ปรับลดลงต่อเรื่อยๆ เป็นการสะท้อนมุมมองของ FED ที่ชัดว่าต้องการให้เม็ดเงิน QE ไหลออกจากพันธบัตรไปที่สินทรัพย์ต่างๆ และภาคเศรษฐกิจจริง ส่วนถ้า Real Yield เริ่มเปลี่ยนทิศทางกลับเป็นขาขึ้นเมื่อไหร่ก็จะเป็นการสะท้อนว่าเม็ดเงิน QE เริ่มจะลดลง และนักลงทุนก็ควรที่จะลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงให้ทันการครับ