รัฐบาลปรับ ครม. อย่าลืมความเชื่อมั่น

รัฐบาลปรับ ครม. อย่าลืมความเชื่อมั่น

การปรับ ครม. สร้างความกังวลกับภาคเอกชนพอสมควร เนื่องจากเป็นการปรับท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ไทยเผชิญอยู่ ขณะเดียวกันหลายฝ่ายต้องการความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงสำนักข่าวต่างประเทศแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ ดังนั้นผู้นำรัฐบาลพึงตระหนักอย่างยิ่ง

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.63) มีมติเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พิจารณาปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบด้วย 4 ตำแหน่งสำคัญดังนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.พลังงาน นายอนุชา นาคาศัย รมว.อุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นความเคลื่อนไหวที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักลงทุน

ภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจ จึงจับตามองอย่างใกล้ชิด พวกเขาอยากเห็นความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐมนตรีที่ลาออกไปแล้ว 6 คน มีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายแทบทั้งสิ้น ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน

เมื่อย้อนกลับมอง 4 รายชื่อข้างต้นที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ เปรียบเทียบกับรายชื่อรัฐมนตรีที่ลาออกทั้ง 6 คน นักธุรกิจนักลงทุนหลายคนนึกถึงคำว่า ครม.เต้าหู้ยี้ นับตั้งแต่มีข่าวปรับ ครม. ผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจกำลังมีปัญหามีการวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะวันศุกร์ที่ผ่านมาเมื่อนายกฯ กล่าวว่ายังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากคนที่ถูกทาบทามยังปฏิเสธ พ.ล.ประยุทธ์ยอมรับด้วยว่านายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เข้าร่วมด้วยเหตุผลทางครอบครัว

นายกฯ ยังบอกว่ายังรอคำตอบจากนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ว่าจะรับตำแหน่ง รมว.คลังหรือไม่ ต่อมาวันเสาร์ที่ 18 ก.ค.63 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. อีก 1 คนที่มีข่าว ได้ออกมาให้ข่าวปฏิเสธรับตำแหน่งเช่นกัน เอกชนมองว่าผู้นำขาดความพร้อมในการปรับ ครม. ด้วยวิธีการทำงานที่กดดันให้รัฐมนตรีลาออกโดยที่ยังไม่มีคนมาแทน สะท้อนถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เพียงกระทบต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นไปยังต่างประเทศ มีสำนักข่าวต่างประเทศอย่างน้อย 2 ราย

สื่อต่างชาติออกมาเตือนว่า การเปลี่ยนขุนพลเศรษฐกิจในขณะที่โควิดฉุดรั้งเศรษฐกิจทั่วโลกถือเป็นความผิดพลาด สำนักข่าวบลูม เบิร์กมองว่าการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเศรษฐกิจในจังหวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพิ่มเติมความเสี่ยงและความไม่แน่นอน อย่างน้อยกระทรวงการคลังเป็นกำลังหลักในการกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท ด้านสำนักข่าวนิเคอิเห็นว่าจะส่งผลต่อโครงการสำคัญที่รัฐบาลกำลังผลักดัน โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) เหล่านี้คือข้อเสนอที่ผู้นำรัฐบาลพึงตระหนัก