รฟท.ดิ้นสู้คดีใหม่ 'โฮปเวลล์' ยื่นถอนทะเบียนบริษัทลุ้นสัญญาโมฆะ

รฟท.ดิ้นสู้คดีใหม่ 'โฮปเวลล์' ยื่นถอนทะเบียนบริษัทลุ้นสัญญาโมฆะ

ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำร้องหลักฐานใหม่ฟื้นคดีโฮปเวลล์ ร.ฟ.ท.หวั่นชดเชยพุ่งเกิน 2.5 หมื่นล้าน ลุ้นรัฐบาลเคาะ 2 ทางเลือก เจรจาลดค่างานก่อสร้าง-ดอกเบี้ย ยื่นศาลคดีใหม่เพิกถอนทะเบียนบริษัท หวังสัญญาเป็นโมฆะ

ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำสั่งวานนี้ (22 ก.ค.) ในคดีหมายเลขดำ ที่ 107/2552, 2038/2551, 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 ระหว่างผู้ร้อง คือ กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้านคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา

สำหรับคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องทั้ง 2 คืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้คัดค้านชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ พร้อมดอกเบี้ยให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ต่อมากระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2562 โดยอ้างว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์แล้วว่า

ประเด็นที่ผู้ร้องทั้ง 2 โต้แย้งเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้สิทธิเสนอข้อพิพาทต่อนุญาโตตุลาการ การเลิกกันของสัญญาพิพาท และการกลับคืนสู่ฐานะเดิมของผู้ร้องทั้ง 2 และผู้คัดค้านมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการพิพากษาคดีและผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 

รวมทั้งผู้ร้องทั้ง 2 โต้แย้งเรื่องความสามารถของผู้คัดค้านในขณะเข้าทำสัญญานั้น เป็นประเด็นที่ผู้ร้องมิเคยโต้แย้งมาก่อนทั้งในศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องทั้ง 2 ไม่ทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณา จึงถือมิได้ว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ 

และการที่ผู้ร้องอ้างว่ามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 143/2562 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน “กรณีโฮปเวลล์” ลงวันที่ 20 มิ.ย.2562 ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวผู้ร้องมิได้แสดงต่อศาลแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ผู้ร้องทั้ง 2 จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

159542492452

ร.ฟ.ท.รอนโยบายรัฐบาล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขอรออ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดอย่างเป็นทางการจากนั้นจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไร

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า คำสั่งศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ทำให้รัฐต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 โดยให้รัฐจ่ายเงินชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ภายใน 180 วัน นับจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ประเมินมูลหนี้รวมตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2551 ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 รวมวงเงิน 25,411 ล้านบาท

“คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้เป็นการตัดสินไม่รับอุทธรณ์กรณีที่กระทรวงคมนาคมยื่นหลักฐานใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่เพื่อให้ศาลพิจารณา แต่ศาลอาจเห็นว่าข้อมูลหรือหลักฐานดังกล่าวได้รับการพิจารณาไปแล้วจึงไม่รับฟังคำร้อง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดขั้นตอนของศาลปกครองในคดีนี้”

สำหรับความเสียหายที่รัฐต้องจ่ายชดเชยให้เอกชนสูงถึง 25,411 ล้านบาท จึงต้องรอฟังนโยบายรัฐบาลว่าจะพิจารณาอย่างไร โดยที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องการให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.สู้คดีนี้ถึงที่สุด เพราะพบช่องว่างของการทำสัญญาที่ทำให้รัฐเสียเปรียบมาก

ชง 2 ทางเลือกสู้คดีต่อ

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ร.ฟ.ท.จะรอฟังนโยบายจากรัฐบาล ซึ่งยังเชื่อว่ามีโอกาสสู้คดีในอื่นเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท อาทิ

1.หาหลักฐานใหม่ที่จะยื่นฟ้องต่อศาลอื่น

2.เจรจากับโฮปเวลล์เพื่อลดยอดชำระความเสียหายดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาเคยเจรจาแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกัน เช่น ค่าก่อสร้างที่โฮปเวลล์ระบุถึง 9,000 ล้านบาท แต่ ร.ฟ.ท.ไม่ได้ใช้งานสิ่งก่อสร้างดังกล่าวเลย จึงขอให้โฮปเวลล์ปรับลดมูลค่าชดเชยลง รวมถึงขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดให้จ่าย 7.5% ถือว่าสูงมากหากเทียบกับดอกเบี้ยปัจจุบันที่เฉลี่ย 2.5%

“เราเชื่อว่ายังมีลู่ทางที่จะสู้ได้อีก เพื่อไม่ต้องเร่งจ่ายเงินชดเชย เพราะมูลค่าที่ต้องจ่ายสูงมากถึง 2.5 หมื่นล้าน จะทำให้รัฐเกิดความเสียหายจากสิ่งที่ไม่ได้นำมาใช้งาน แต่ในประเด็นของการฟ้องร้องในศาลอื่น คงต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาช่วยพิจารณา”แหล่งข่าว กล่าว

159542494897

ค่าชดเชยพุ่งเกิน 2.5 หมื่นล้าน

สำหรับ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ได้มีการประเมินวงเงินที่ ร.ฟ.ท.ต้องจ่ายรวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2551 (วันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด) ถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 วงเงินรวม 25,411 ล้านบาท แยกเป็น 

1.ค่าก่อสร้างรวม 16,130 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 9,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด 5,130 ล้านบาท

2.ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 8,728 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 2,850 ล้านบาท และดอกเบี้ยตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญา 5,878 ล้านบาท 

3.ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน 53.28 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 38.75 ล้านบาท และดอกเบี้ย 14.53 ล้านบาท 

4.หนังสือค้ำประกัน 500 ล้านบาท 5.ค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์ 16.53 ล้านบาท

ทั้งนี้ การคำนวณเงินชดเชยดังกล่าวกระทรวงคมนาคมคำนวณถึงสิ้นเดือน เม.ย.2562 แต่การจ่ายเงินค่าชดเชยจริงจะต้องคำนวนเงินชดเชยในส่วนดอกเบี้ยใหม่เพิ่มจนถึงปัจจุบัน

ลุ้นคดีถอนทะเบียน“โฮปเวลล์”

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีคณะทำงานทางด้านกฎหมายที่วางยุทธศาสตร์การดำเนินคดีนี้ไว้แล้ว ดังนั้นเวลานี้ขอเวลาให้คณะทำงานดังกล่าวพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาเนื้อหาในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดด้วย

นายนิรุฒ กล่าวว่าเชื่อว่ายังมีโอกาสและช่องทางที่จะดำเนินการผ่านศาลอื่นได้อีก โดยขณะนี้มีอีกคดีที่ฟ้อง คือ คดีฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อเพิกถอนการจกทะเบียนบริษัทคู่กรณี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองการพิจารณา

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ตรวจสอบการจดทะเบียนของบริษัทโฮปเวลล์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2563 โดยยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนย้อนหลังของโฮปเวลล์ โดยขอให้เพิกถอนตั้งแต่ปี 2533 ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

สำหรับมูลเหตุการขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนการจดทะเบียนครั้งนี้ เพราะตรวจสอบพบโฮปเวลล์ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายโดยการจดทะเบียนมีนิติบุคคลต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการขัดกฎหมายของไทยขณะนั้น ซึ่งหากศาลมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์เพิกถอนการจดทะเบียนจะทำให้สัญญาระหว่าง ร.ฟ.ท.กระทรวงคมนาคมและโฮปเวลล์ เป็นโมฆะทันที และการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจะไม่เป็นผล โดยขณะนี้รอศาลนัดการไต่สวนคดี