'คอตโต้'พลิกเกมโควิด ทุบตลาดวัสดุก่อสร้าง
ความร้ายแรงของไวรัสร้าย โคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) ทำให้ทั่วโลกติดเชื้อหลักสิบล้านคน ความกังวลต่อการเจ็บป่วย ยังลามทำให้เศรษฐกิจฟุบไปทั่วโลกจากการหยุดกิจกรรม ธุรกิจการค้าอุตสาหกรรม
ความร้ายแรงของไวรัสร้าย โคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) ทำให้ทั่วโลกติดเชื้อหลักสิบล้านคน ความกังวลต่อการเจ็บป่วย ยังลามทำให้เศรษฐกิจฟุบไปทั่วโลกจากการหยุดกิจกรรม ธุรกิจการค้าอุตสาหกรรม
เช่นเดียวกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่สะดุดลงตามกำลังซื้อ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) โดยเฉพาะธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งพบว่าความต้องการลดลงต่ำสุดในรอบหลายปี
นำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการบริษัทเอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ โสสุโก้ และคัมพานา ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังจากรัฐประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ส่งผลต่อยอดขายตลาดรวมเซรามิกส์ มูลค่าตลาดรวมปีละ 3-3.5 หมื่นล้านบาท ลดลง 15% ทำให้รายได้ของบริษัทในไตรมาส 2 (ช่วงล็อกดาวน์) อยู่ที่ 2,369 ล้านบาท ลดลง 15% ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2563 มีรายได้รวม 4,892 ล้านบาท ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปี 2563 รายได้จะลดลง 10-15% ตามสภาพตลาด
นำพล ขยายความว่า ผลจากการล็อกดาวน์ ทำให้ยอดขายเซรามิกส์จากช่องทางหลักๆในประเทศ ลดลง ตั้งแต่ห้างค้าปลีก (Modern Trade), ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตัวแทนจำหน่ายขนาดใหญ่ ซึ่งต้องปิดร้านเหลือเพียงร้านค้าขนาดกลางและเล็ก ที่ได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้นในช่วงร้านใหญ่ Modern Trade ต้องปิดชั่วคราว และตลาดนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่หยุดการเปิดตัวพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ มุ่งเน้นขายสินค้าสร้างเสร็จพร้อมอยู่ เพื่อระบายสต็อกเป็นหลัก
เขายังยอมรับว่า ตลาดเซรามิกส์ลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำในรอบหลายปี จากสูงสุดที่ 200 ล้านตารางเมตร(ตร.ม.) ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาช่วงที่อสังหาริมทรัพย์บูมสูงสุด แต่ในครึ่งปีแรก2563 ทำได้เพียง 80 ล้านตร.ม.
อย่างไรก็ตาม ความ“ตื่นกลัว”ไวรัส และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal)ในช่วงกักตัวจากโควิด แม้ทำให้ตลาดรวมลดลง แต่กลับพบว่าสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่กลับจำหน่ายดีขึ้น
กลายเป็นจุดพลิกใช้ช่วงโควิด ด้วยการเปิดตัวสินค้านวัตกรรมเพราะโควิด ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น คนจึงตื่นตัวกับความสะอาดภายในบ้านต้องปลอดเชื้อมากขึ้น จึงเป็นโอกาสเปิดตัวสินค้าใหม่ กระเบื้องยับยั้งแบคทีเรีย (Hygienic Tile) นวัตกรรมพิเศษผสมสารซิลเวอร์รวมไปถึงกระเบื้อง ที่ตอบโจทย์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรับสังคมผู้สูงวัย รุ่น 4 D+CAMPANA และ SOSUCO ช่วยกันลื่น ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองสินค้าใหม่ ตอบโจทย์ชีวิตในยุคโควิด
โดยในช่วงกักตัว ช่องทางการจัดจำหน่ายหลักที่ เอสซีจี เซรามิกส์ พึ่งพาคือตัวแทนจำหน่าย แต่เมื่อช่องทางเหล่านี้ถูกปิด จึงเป็นโอกาสเข้าไปพัฒนาช่องทางจำหน่ายออนไลน์ มีการบริหารจัดการการกระจายสินค้า และโปรแกรมการสั่งซื้อเฉพาะที่ช่วยทำให้ยอดการขายออนไลน์ พลิกเติบโตมากขึ้นถึง 300%
ตลาดที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อการสร้างบ้านใหม่ไม่เติบโตจากโควิด ส่งผลให้เจ้าของบ้านเก่า เริ่มคิดถึงการปรับปรุงตกแต่งบ้าน ดังนั้นเอสซีจี เซรามิกส์ ได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ รับปรึกษาและปรับปรุง ตกแต่ง ต่อเติม ติดตั้งวัสดุกรุผิว(Restoration)ตอบโจทย์คนไม่ซื้อบ้าน แต่คนนำเงินมาตกแต่งบ้านเดิมให้ดีขึ้น ทั้งกลุ่มบ้านทั่วไป รวมถึงหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล จึงทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะกลายเป็นอนาคตพลิกจากผู้ผลิต จัดจำหน่ายสินค้า ไปสู่การบริการ ได้ในอนาคต
ขณะที่ภาพรวมตลาดเซรามิกส์ในช่วงครึ่งปีหลัง ยอมรับว่า “ยังเหนื่อยหนัก” เขาจึงหวังว่า รัฐบาลจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท อัดฉีดเข้าสู่ระบบเป็นใบเบิกทางกระตุ้นกำลังซื้อให้คนมั่นใจจับจ่าย ใช้เงิน ทำขับเคลื่อนให้เงินหมุนไปสู่ภาคธุรกิจ ที่จะส่งผลทำให้เอกชนมั่นใจและกล้าลงทุน ซึ่งเขาคาดหวังว่า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด หากไม่มีการติดเชื้อรอบที่ 2 และมีวัคซีน จะทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติอย่างเร็วที่สุดปลายปี 2564
“แม้การเมืองจะปรับเปลี่ยน แต่สิ่งที่ทุกคนทำเหมือนกันคือการใส่เงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้คนออกมาจับจ่าย หากไม่มีการระบาดรอบ 2 จะทำให้ตลาดค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง”