เปิดข้อพิรุธ 9 ข้อ ส่ง DSI เอาผิดอาญาคดี'โฮปเวลล์'

เปิดข้อพิรุธ 9 ข้อ ส่ง DSI เอาผิดอาญาคดี'โฮปเวลล์'

“คมนาคม”เตรียมชงข้อมูล “ดีเอสไอ” ภายใน ก.ค.นี้ สืบสวนปมสัญญาโฮปเวลล์ผิดข้อกฎหมาย ลุ้นสู้คดีแพ่ง-อาญา พร้อมเจรจาลดมูลหนี้คู่ขนานด้าน “อนุทิน” สั่งสู้ไม่ถอย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงเคารพคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 ที่ไม่รับพิจารณาคดีใหม่ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะต้องทำจนถึงที่สุด โดยฝ่ายทนายของ ร.ฟ.ท.ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลพิจารณาหลักฐานกรณีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขัดกับข้อกฎหมาย ซึ่งรอว่าศาลจะรับคำร้องหรือไม่ โดยข้อมูลที่มีอยู่เป็นข้อมูลใหม่เรื่องความไม่สมบูรณ์ของการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งอาจทำให้การทำนิติกรรมสัญญาอาจมิชอบ

รวมทั้งกระทรวงคมนาคมจะส่งข้อมูลเอาผิดคดีอาญาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาการทำสัญญาที่อาจทุจริต โดยมั่นใจกับเรื่องที่ดำเนินการ แต่ขึ้นกับการวินิจฉัยของศาล

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะยื่นให้ดีเอสไอภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ตรวจสอบมีหลายกรณีที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมกำลังรวบรวมหลักฐานและเอกสารเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งดีเอสไอจะรับไว้สอบสวนหรือสอบสวนผลออกมาเป็นอย่างไร จะตัดสินเข้าข่ายเป็นคดีอาญา หรือคดีแพ่ง คงต้องรอผลการสอบสวนของดีเอสไอ

การดำเนินการดังกล่าวเตรียมการก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องพิจารณาคดีใหม่ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 โดยให้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ทำตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการจ่ายเงินชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) และจ่ายเงินชดเชยพร้อมดอกเบี้ย 2.5 หมื่นล้านบาท

“คมนาคม”ยื่นข้อมูลพิรุธ 9 ข้อ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ตั้งคณะทำงานศึกษาการทำสัญญาโฮปเวลล์พบข้อพิรุธ 9 ข้อ ที่อาจดำเนินคดีแพ่งและอาญาได้ รวมถึงการยกเป็นคดีพิเศษ ประกอบด้วย 

1.วันที่ 6 ต.ค.2532 รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

2.วันที่ 16 ต.ค.2532 การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวดเร็วผิดปกติและให้สิทธิประโยชน์มากกว่าหลักการตามมติ ครม. 

3.วันที่ 15 ม.ค.2533 มีการแทรกแซงรายละเอียดโครงการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น และคณะกรรมการฯ เอื้อประโยชน์ให้โฮปเวลล์ฮ่องกง

4.วันที่ 31 พ.ค.2533 โฮปเวลล์ ฮ่องกง เสนอเงื่อนไขไม่ตรงประกาศของคณะกรรมการฯ 

5.วันที่ 6 ก.ค.2533 มีความผิดปกติในการร่างสัญญาสัมปทานและการลงนามในสัญญาสัมปทาน 

6.เดือน ส.ค.-พ.ย.2533 มีการเอื้อประโยชน์ในการจดทะเบียนตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และหลีกเลี่ยงใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 (ปว.281) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

7.วันที่ 9 พ.ย.2533 การลงนามในสัญญาสัมปทานไม่เป็นไปตามมติ ครม. 

8.วันที่ 4 ธ.ค.2533 มีการรายงานเท็จต่อ ครม.

9.บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

“อนุทิน”ยืนยันสู้ไม่ถอย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลจะสู้ไม่ถอยเพราะคดีแบบนี้จะให้รัฐไปยอมจ่ายค่าชดเชยจำนวนมากง่ายๆ คงไม่ได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังได้ดำเนินการคู่ขนานในเรื่องของการเจรจาผลวงเงินชดเชยกับบริษัทโฮปเวลล์ ซึ่งตนได้ตั้งคณะทำงานโดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน โดยขณะนี้ทราบว่ามีความคืบหน้า แต่ตนยังไม่ได้รับการรายงาน

“วงเงิน 2 หมื่นกว่าล้านบาท หากทำให้เกิดผลกระทบประเทศชาติต้องทำให้ครบทุกช่องทาง ซึ่งมีเวลา 90 วันที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากที่ศาลตัดสินวันก่อน ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ย 7.5% ขณะนี้ดอกเบี้ยไม่เดินรายวันเพราะก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้ขอชะลอบังคับคดี ทำให้ทุกเรื่องอยู่ที่เดิมไม่มีภาระเพิ่ม"

‘วิษณุ’ เผยยังมีเวลาเจรจาค่าโง่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.มีคณะทำงานที่ดูแลเรื่องนี้ โดยรอกระทรวงคมนาคมรายงานมารัฐบาลว่ามีแนวทางอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้หารือเรื่องนี้กับนายศักดิ์สยาม แต่เคยประชุมร่วมกับรองปลัดกระทรวงคมนาคมในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ผ่านมา 1 ปี จึงไม่ทราบความคืบหน้าและอาจเชิญมาสอบถามอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อพ้นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาแล้วก็เป็นการบังคับคดี ซึ่งเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาและไม่จำเป็นต้องปัจจุบันทันด่วน แต่ต้องขึ้นอยู่กับผลการเจรจาเหมือนกัน

“หลังจากนี้เราก็ยังสามารถเจรจากับเอกชนได้อยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาก็เคยเจรจามาแล้ว แต่ในครั้งนั้นไปเกี่ยงอะไรก็ไม่รู้ จำไม่ได้นึกไม่ออก”นายวิษณุกล่าว

ศาลชี้มีเวลายื่นข้อมูลใหม่ 5 ปี

นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า คดีดังกล่าวถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.2562 หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ดำเนินการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.ยื่นขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ และล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.มีเวลาในการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 5 ปี แต่ต้องเป็นข้อมูลใหม่ที่ต่างออกไปจากที่เคยยื่น ซึ่งศาลปกครองจะพิจารณาว่าข้อมูลที่ยื่นมาใหม่เข้าข่ายการพิจารณาคดีใหม่หรือไม่ ซึ่งกรณีที่กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จะฟ้องแพ่งเพื่อเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัท และคดีแพ่งสิ้นสุดให้เพิกถอนก็อาจอื่นขอพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างถึงความสมบูรณ์ของสัญญา