โมเดิร์นเทรดจี้รัฐปรับจ้างแรงานรายชั่วโมง
ดัชนีโมเดิร์นเทรด อ่วมไตรมาส 2 ทรุดหนัก จากพิษโควิด หวังดีขึ้นไตรมาส 3 ร้องปรับจ้างรายชั่วโมงช่วยเหลือคนว่างงาน ชี้โมเดิร์นเทรดพร้อมรับทันที 5,000 คน แก้เลิกจ้าง แนะรีเทิร์นมาตรการชิม ช็อป ช่วยชาติ กระตุ้นการใช้จ่าย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการประเภทโมเดิร์นเทรด เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า 102 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 20 มิ.ย.-20 ก.ค.2563 พบว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ โมเดิร์น เทรด ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.1 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าดัชนีได้ปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่3เป็นต้นไป แต่ยังคงให้ความระมัดระวังในเรื่องของการระบาดของโควิด-19 เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจของประเทศ กำลังซื้อของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว
โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงนั้น นอกจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีปัจจัยมาจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการออกจากบ้านน้อยลงและซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น การส่งออกที่ลดลง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นซึ่งมีผลโดยตรงกับกำลังซื้อทำให้ยอดขายสินค้าของ โมเดิร์นเทรดลดลง
นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้กฎหมายแรงงานพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานกับผู้ว่างงาน จากปัจจุบันกฎหมายจะบังคับจ้างงานแบบค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและความต้องการของผู้ประกอบการ หากแก้กฎหมายให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมงก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจประคองกิจการและสามารถเพิ่มการจ้างงานในชั่วโมงเร่งด่วน หรือช่วงเทศกาลต่างๆที่มีประชาชนเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะห้างโมเดิร์นเทรดต้องการลูกจ้างรายชั่วโมงไม่ต่ำกว่า 5,000 อัตรา แต่ไม่สามารถจ้างงานได้
นอกจากยังช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกจ้างมีงานทำ ลดความเสี่ยงของการปลดคนงานลงหากสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้จะถือเป็นการเปิดโอกาสให้ตลาดแรงงานของไทยมีความเสี่ยงตกงานน้อยลง ทางเอกชนจึงต้องการให้รัฐบาลมีการผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้ธุรกิจยังคงสามารถประคองตัวอยู่ได้ และเดินหน้าได้ทันทีเมื่อมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
อย่างไรก็ตามการสอบถามผู้ประกอบการยืนยันว่าแม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังไม่มีการเลิกจ้างพนักงานในกลุ่มของผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดในขณะนี้ แต่ในระยะยาวหากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่ดีขึ้น ยอดขายลดต่ำลงไปเรื่อยก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
นายสุรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องการเงินโดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ลูกค้ารายย่อย ผ่านกลุ่มธุรกิจค้าปลีก การลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย 'ช็อป ช่วยชาติ นำไปลดภาษีเงินได้เพดานไม่เกิน 50,000 บาท
รวมทั้งมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น ฝึกอาชีพ ให้กู้เงินเพื่อลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6-12 เดือน ออกมาตรการทางภาษี เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มหากมีการลงทุน เร่งคืนเงินประกันสังคมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และขยายการสนับสนุนการจ่ายเงินให้ผู้ประกันสังคมจนถึงสิ้นปี 2563
นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมธุรกิจรถเร่ให้มีมาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ประชาชนแล้ว ก็สามารถช่วยให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อสินค้าไกลบ้าน เพราะรถเร่ที่มีมาตรฐานสามารถให้บริการถึงหน้าบ้านลูกค้า และที่สำคัญรถเร่ก็จะเชื่อมโยงกับการนำสินค้าตลาดสด ค้าปลีก ค้าส่ง ด้วย รวมทั้งมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น ฝึกอาชีพ ให้กู้เงินเพื่อลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6-12 เดือน ออกมาตรการทางภาษี เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มหากมีการลงทุน เร่งคืนเงินประกันสังคมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และขยายการสนับสนุนการจ่ายเงินให้ผู้ประกันสังคมจนถึงสิ้นปี 63