“เมเจอร์ฯ” เป็นมากกว่าโรงหนัง ดึงอีเวนท์ งานแต่ง ปั้นรายได้ใหม่
โรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการปรับตัว ธุรกิจโรงภาพยนตร์ เดิมมีรายได้จากการฉายหนัง ขายตั๋ว ป๊อปคอร์น โฆษณา แต่ที่นั่งยังว่าง ต้องอุดรายได้ "เมเจอร์" พลิกวิกฤติ ทำเงินจากคอนเทนท์ Non-Movie จัดคอนเสิร์ต งานแต่ง ประชุม สัมนาฯ
หลังรัฐคลายล็อกดาวน์ให้ “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” กลับมาเปิดให้บริการได้ แต่สถานการณ์กอบกู้ยอดขายกลับไม่ง่าย จากข้อจำกัดในการเปิดบริการที่มีมากมาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะมาตรการเข้มรักษาระยะห่างทางสังคม การเว้นที่นั่งในโรงภาพยนตร์ ทำให้มีพื้นที่ขายหรือ Seat Availability เพียง 25% เท่านั้น
2 เดือนผ่านไป ผู้ประกอบการสามารถขายที่นั่งหรือตั๋วภาพยนตร์ให้ลูกค้าเพิ่มเป็น 70-75% แต่อัตราการเข้าชมหรือ Occupancy rate ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม โดยยังอยู่ในระดับต่ำในสัดส่วน 20% เท่านั้น
เนื่องจากหน้าหนัง หรือ“ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์” จากสตูดิโอดังที่เดิมจ่อคิวเข้าฉายต้อง “เลื่อน” หรือไม่ยอมกำหนดวันฉายเสียที จึงขาด Content is King ทำให้คนดูน้อยลง
ทว่า นักการตลาดต้องไม่จำนนต่ออุปสรรค หาทางแก้โจทย์ พลิกกลยุทธ์เพื่อดึงคอหนังให้เข้ามาเสพความบันเทิงนอกบ้านให้ได้ นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงกลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤติโควิดช่วงโค้งสุดท้ายของปีว่าจะลุยออกบัตรเอ็มพาสสำหรับ “บุคคลทั่วไป” หรือผู้ใหญ่อายุ 23 ปีขึ้นไป (M Pass ) ราคา 300 บาทต่อเดือนเพื่อดูภาพยนตร์บุฟเฟต์ จากเดิมมี M Pass Student ราคา 200 บาทต่อเดือน เอาใจวัยทีน นักเรียน นักศึกษา
การเสิร์ฟโปรโมชั่นเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพราะต้องการปลุกให้คอหนังเหล่านี้ “กลับมา” ดูที่โรงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าข้อจำกัดของผู้ใหญ่คือ “ไม่ค่อยมีเวลา” แต่การจูงใจด้วยบุฟเฟต์หรือดูภาพยนตร์ไม่อั้นก็เป็นแม่เหล็กพอสมควร
การออกบัตรสมาชิกดังกล่าว เมเจอร์ฯ คาดหวังฐานลูกค้า 1 ล้านราย ภายในปีนี้ แต่ นรุตม์ ยอมรับว่าโอกาสที่จะเป็นไปตามเป้าหมาย..ยาก! ขณะเดียวกันต้องการให้สัดส่วนผู้ใหญ่และนักเรียน นักศึกษาเท่ากันที่ 50% จากปัจจุบันกลุ่มหลังมีมากถึง 90% ผู้ใหญ่ 10% ของบัตรสมาชิกที่มีกว่า 1 แสนใบ
เดิมบัตร M Pass ทั่วไปจะใช้ได้เฉพาะสาขาที่มีจำนวนโรงเยอะ 16 โรง เช่น สาขาพารากอนซีนีเพล็กซ์ เมเจอร์ รัชโยธินฯ แต่ตอนนี้ใช้ได้ทุกสาขา การทำตลาดดังกล่าวจะกระตุ้น “ความถี่” ในการดูภาพยนตร์นั่นเอง โดยปัจจุบันผู้ถือบัตร M Pass Student เฉลี่ยดูภาพยนตร์ 3 เรื่องต่อเดือน
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ต้องลุย คือคอนเทนท์ “หนังฟอร์มยักษ์” ซึ่งกำลังเดินหน้าเจรจากับสตูดิโอต่างๆ เพื่อให้ปล่อยภาพยนตร์ออกมาฉาย ทั้งนี้ ภาพยนตร์สายลับ “TENET” ของผู้กำกับชื่อก้องโลกอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลนด์ ที่จะเข้าฉาย 27-28 เดือนส.ค.นี้ ในไทย ยังเป็นโมเดลของการทดลองฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในประเทศที่ป้องกันโรคโควิดได้ดีด้วย หากผลตอบรับจากแฟนๆดี สตูดิโอสามารถนำไปต่อยอดในระดับโลกด้วย
“หากฉาย TENET แล้วผลตอบรับดี ก็จะเป็นตัวอย่างให้สตูดิโอนำไปฉายอีก 70 ประเทศทั่วโลก(ยกเว้นจีน บางเมือง และสหรัฐ)ซึ่งเป็นประเทศที่ป้องกันโควิดได้ดี”
ปัจจุบันภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่เข้าฉายยังน้อย บริษัทจึงเสริมทัพด้วยหนังจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงภาพยนตร์ไทย หากมองมุมบวกจากจุดนี้จะเห็นว่าเป็น “โอกาสทอง” ที่ภาพยนตร์ฟอร์มระดับกลางๆจะมีพื้นที่ยืนมากขึ้น
ส่วนการปรับตัวครั้งสำคัญที่จะทำให้เมเจอร์เป็น “มากกว่าโรงภาพยนตร์” เมื่อบริษัทจะนำพื้นที่ในโรงภาพยนตร์มาใช้จัดกิจกรรมต่างๆหรือคอนเทนท์ที่ไม่ใช่การฉายภาพยนตร์ หรือ Non-Movie เพื่อสร้างรายได้ ประเดิมดึงการแสดงคอนเสิร์ตออนไลน์(Live)จากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ที่แพลตฟอร์มอย่างวีไลฟ์(V Live) มีการถ่ายทอดสดหรือสตรีมมิ่งจำนวนมาก โดยงานจาก 2 ประเทศรวม 10 งาน เพื่อถ่ายทอดสดให้แฟนคลับชมพร้อมกัน เช่น 3 โรง รวม 2,000 ที่นั่ง ส่วนราคาบัตรอยู่ที่ 1,200 บาท
นอกจากนี้ ยังเปิดให้ลูกค้าธนาคาร ประเดิมกสิกรไทย จัดประชุม สัมมนาแก่พนักงานสาขาพร้อมกันทั่วประเทศ จากเดิมผู้บริหารจะบินไปพบปะสาขาต่างๆและไฮไลท์อยู่ที่การ “จัดงานแต่งงาน” ซึ่งกำลังเจรจากับลูกค้า โดยค่าเช่าพื้นที่อยู่ที่หลักหมื่น อาหารสามารถใช้บริการจากภายนอก หรือบริการจัดเลี้ยง(Catering)ของบลูโอ คาราโอเกะได้
“โควิดเป็นตัวเร่งให้เราต้องปรับตัว ซึ่งการหารายได้จากคอนเทนท์ที่ไม่ใช่หนัง เป็นการกระจายความเสี่ยง พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส และเรากำหนดเป็นกลยุทธ์ระยะยาว เพื่อผลักดันสัดส่วนรายได้เบื้องต้น 5% ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมหนัง มูลค่าหมื่นล้านบาท ปีนี้สถานการณ์จะเติบโตหรือไม่ ยังคาดการณ์ไม่ได้ เพราะธุรกิจปิดตัวไป 3 เดือน การทำตลาดเพื่อสร้างการเติบโตชดเชยช่วงที่ปิดไปเป็นเรื่องยากมากๆ”