ชี้ผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะ 93.89% เชื่อมั่นระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และมาตรฐานอาชีพ

ชี้ผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะ 93.89% เชื่อมั่นระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และมาตรฐานอาชีพ

สคช. - ทริส เผยผลสำรวจความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นต่อระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ 1,920 ตัวอย่าง ร้อยละ 93.89 ของผู้เข้ารับ และผ่านการประเมินสมรรถนะ มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของ สคช.

ทริส ในฐานะสถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งแรกของไทย เปิดเผยผลสำรวจความพึงพอใจ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คนในอาชีพที่เข้ารับการประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ประจำปี 2563 จำนวน 1,920 ตัวอย่าง พบว่าผู้ที่เข้ารับการประเมินสมรรถนะ และผู้ที่ผ่านการประเมินสมรรถนะกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สูงกว่าร้อยละ 93.89 ทั้งเรื่องศักยภาพของบุคลากร ความสำเร็จในการดำเนินงาน ที่เปิดเผย โปร่งใส ที่สำคัญคือมีนโยบายในการสนับสนุนคนในอาชีพ ทำให้ส่วนใหญ่เล็งเห็นประโยชน์ และความจำเป็นของระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ ทำให้คนในอาชีพมีความสามารถตามสมรรถนะที่ได้การรับรอง

ขณะที่ร้อยละ 83.93 มีความเชื่อมั่นต่อระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และมาตรฐานอาชีพ ซึ่งผู้ประกอบการ / นายจ้าง รวมถึงสมาคม สมาพันธ์ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนในอาชีพร้อยละ 88.05 มั่นใจในความสามารถของผู้ที่ผ่านการประเมิน และพร้อมพิจารณารับคนเหล่านี้เข้าทำงาน สัดส่วนอาชีพของผู้ประกอบการในอาชีพที่ให้ความเชื่อมั่นสูงสุด 5 อันดับ คือสาขาวิชาชีพบริหารงานบุคคล, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ , โลจิสติกส์, อุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์ และวิชาการผังเมือง ตามลำดับ

ด้านผู้ที่ผ่านการประเมินฯ ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และมาตรฐานอาชีพ จะช่วยทำให้พวกเขามีความก้าวหน้าในสายอาชีพมากขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกต้องตามหลักสากล โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การรับรอง ที่สำคัญคือมีโอกาสสร้างรายได้ และต่อยอดในชีวิต โดย 5 อันดับอาชีพที่เชื่อมั่นในการเป็นมืออาชีพกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้แก่ อันดับแรก สาขาวิชาชีพบริการทางการเงิน อันดับ 2 การท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร, รักษาความปลอดภัย, ธุรกิจเสริมสวย และบริการยานยนต์ ตามลำดับ

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) บอกว่านับเป็นความสำเร็จของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ที่การดำเนินงานสามารถทำให้หลายภาคส่วนเห็นความสำคัญ ของการใช้ประโยชน์จากระบบคุณวุฒิวิชาชีพ นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเลือกบุคคลเข้าทำงาน ลดค่าใช้จ่ายการอบรม และพัฒนาบุคคล เฉลี่ยเกือบ 2 หมื่นบาท ต่อคน ต่อปี ลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่ที่สำคัญคือเพิ่มโอกาส และรายได้ให้กับคนในอาชีพ เกิดคุณค่ากับผู้ที่ผ่านการประเมินที่แม้บางอาชีพ บางคนจะไม่มีวุฒิการศึกษา แต่พวกเขามีหน่วยงานภาครัฐที่ให้การรับรอง มีความภูมิใจกับทักษะและประสบการณ์ที่ได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเชื่อมั่นในการใช้บริการมากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หากคิดเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 830 ล้านบาท ในปี 2563

ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังย้ำว่า สคช. จะยังคงมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพบุคคล โดยเสริมทัพช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาล และสถานการณ์ วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอบรมออนไลน์ หรือใช้ช่องทางออนไลน์ในการเสริมรายได้ให้คนในอาชีพอย่างแอปพลิเคชัน ปักหมุดมืออาชีพ ด้วย

159643135275

159643137092