ชี้ช่องแก้รธน.รายมาตรา ส.ส.ผนึกส.ว.เลี่ยงเดดล็อก

ชี้ช่องแก้รธน.รายมาตรา ส.ส.ผนึกส.ว.เลี่ยงเดดล็อก

กรธ.ชี้ช่อง ส.ส.จับมือส.ว. แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เลี่ยงเดดล็อกมาตรา 256 “สมพงษ์” ดันเข้าสภาฯ วาระเร่งด่วน ไม่เกิน 6 ส.ค. หลังเพื่อไทยมีมติพรรค ขณะที่นายกฯเผยอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีใหม่ ปัดมี“อาฟเตอร์ช็อก” หลังปรับครม.

กระแสวิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เขียนเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยาก ล่าสุด นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ต้องร่างไว้เช่นนี้ มีเหตุผล 2 ประการ คือ 1. เป็นธรรมชาติของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บท จึงต้องแก้ไขยาก และ 2.เป็นเหตุมาจากความวุ่นวายในอดีต ที่มีฝ่ายการเมืองมุ่งหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่พวกเขาเห็น ทำให้เกิดข้อขัดแย้งในสังคมขึ้นมา

“ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าแก้มาตรานี้ ก็จะต้องทำประชามติ ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้หลายคนมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก”

ส่วนการต้องใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในการร่วมโหวตเห็นชอบกับการแก้ไขมากกว่า 1 ใน 3 หรือราวๆ 84 เสียง และต้องมีฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลมาร่วมด้วย 20% จุดนี้ทำให้ดูว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเงื่อนไขเสียงข้างมากจริงๆ ทั้งจากฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล และ ส.ว.ไม่ใช่อาศัยเฉพาะเสียงข้างมากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว แต่ต้องได้การสนับสนุนจาก ส.ว. และฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลด้วยเช่นกัน

อดีตโฆษก กรธ. บอกอีกว่า การเขียนรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มีบทบาทในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพราะสภาไม่ได้มีเฉพาะ ส.ส. แต่เป็นรัฐสภา มี ส.ว.ด้วย ขณะที่บทเฉพาะกาลเขียนให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการคัดเลือกโดย คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ กับอำนาจตรวจสอบอีกหลายอย่าง ทำให้เสียงข้างมากทำอะไรตามใจไม่ได้ จึงถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างความยุ่งยากให้นักการเมืองมากพอสมควร

กรธ.ชี้ล็อก 3 ด่านแก้รธน.

ยอมรับว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านถึง 3 ด่านกล่าวคือด่านแรก ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยทุกขั้นตอน 84 เสียง ด่านที่ 2 หากจะแก้ประเด็นสำคัญ เช่น หมวด 1 (บททั่วไป รูปแบบรัฐ) หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ต้องทำประชามติและด่านที่ 3 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระแล้วก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯยังเปิดช่องให้ ส.ส. ส.ว.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีก

“ไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขไม่ได้เลย เพราะอะไรที่เป็นของดี ทุกฝ่ายก็จะเห็นร่วมกัน แต่บางเรื่องถ้าเป็นประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มบางฝ่าย จะให้ฝ่ายอื่นเห็นดีเห็นงามคงไม่ได้”

ชี้ช่องแก้รายมาตราเลี่ยงม.256

ตนยังคิดว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องหารือกับ ส.ว. ซึ่ง ส.ว.อาจจะเห็นด้วยให้แก้ แต่อาจจะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เหมือนกับ ส.ส. แต่ที่แก้ยากมากที่สุด คือการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า อำนาจนี้ให้ไว้แค่ช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ประเทศยังมีเวลาดูแลกันอีกยาว ไม่ใช่แค่ 5 ปี

อย่างไรก็ดีการแก้รัฐธรรมนูญยังมี 2 แนวทางที่จะแก้ คือ 1. หากจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างใหม่หมด ก็ต้องแก้มาตรา 256 และทำประชามติ กับ 2.ถ้าแก้รายมาตรา แก้รายประเด็น ก็ไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 256 แต่ใช้วิธีหารือกับ ส.ว. เพื่อกำหนดประเด็นแก้ไขให้เห็นพ้องต้องกันได้

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รับทราบ ได้ยินแล้ว ได้อ่านจากข่าวแล้ว แต่เขายังไม่ได้ส่งอะไรมา

เมื่อถามถึง การแก้ไข มาตรา 256 นายวิษณุ ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด ก่อนขึ้นห้องทำงานทันที

เพื่อไทยดันแก้รธน.วาระด่วน

ความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.ของพรรค ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคเพื่อไทยมีมติเอกฉันท์ ดำเนินการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยเราจะขมวดปม ให้มีการตั้งส.ส.ร.ขึ้น โดยจะเสนอสภาฯ ให้เร็วที่สุดในวันที่ 4 ส.ค. หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 6 ส.ค.

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมองว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่ได้มองว่าการทำประชามติเป็นกระบวนการที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ที่พรรคเพื่อไทยจะเปิดโอกาสให้พรรคร่วมฝ่ายค้านพรรครัฐบาล และ ส.ว.ที่เห็นด้วยกับแนวทางของเรา เข้าร่วมในการกระบวนการแก้ไขด้วย เช่นกันโดยการยื่นญัตติประกบกับญัตติของเรา

ขีดเส้นไม่เกิน 1 ปีแล้วเสร็จ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมต่อข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมีกรอบเวลา 7-8 เดือน หรือไม่เกิน 1 ปี ผ่านการแก้ไขใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามข้อเสนอของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร จากนั้นให้เลือกตั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชน

ขณะที่นายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวเรียกร้องไปยัง ส.ว.ว่า ขอให้สนับสนุนและจริงใจต่อการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน หาก ส.ว.ไม่สนับสนุน หมายถึงการยึดติดอำนาจ ทั้งนี้ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยยื่นเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว.

พร้อมเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้แสดงความจริงใจต่อการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ผ่านการออกคำสั่งให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนสนับสนุนให้ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชน แม้จะใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมจะยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายกฯปัดอาฟเตอร์ช็อกปรับครม.

ส่วนท่าทีจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี​ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุให้ระวังอาฟเตอร์ช็อก คนอกหักป่วนสภา หลังการปรับคณะรัฐมนตรี ( ครม.) โดยกล่าวด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่า สื่อก็พูดและเขียนกันไปเรื่อย วันนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

“ต้องให้เวลาว่าที่รัฐมนตรีเขาได้มีการตรวจสอบประวัติส่วนตัว รวมทั้งเรื่องหุ้น ไม่ใช่ว่า ตั้งวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะไปได้เสียเมื่อไหร่ คนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีก็จะต้องเคลียร์ตัวเอง ต้องให้เวลาเขานิดหนึ่งยืนยันว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

ส่วนการลาออกของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกฯกล่าวว่า “เดี๋ยวไปดูก่อน” หลังจากนี้ต้องมีการแต่งตั้งผู้ที่รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามอัตโนมัติอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ยังไม่เจอกันเลย ถ้าอยากรู้ก็ไปถามนายสมศักดิ์ดู ตนจะไปเจอเขาตลอดได้อย่างไร แต่มั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะนายสมศักดิ์ ก็บอกแล้วว่าให้เกียรตินายกรัฐมนตรี

อ้างเทคนิคสื่อปม“อาฟเตอร์ช็อก”

ด้านนายสมศักดิ์ ระบุว่าการระบุดังกล่าว เป็นเทคนิคคำถามของสื่อมวลชน ที่ตนเองไม่ได้พูด พร้อมยืนยันว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร แล้ว ไม่มีใครน้อยใจ หรือเสียใจ และยังคงเชื่อมั่นการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่า จะไม่เกิดปัญหาหลังการปรับครม.ทั้งองค์ประชุมต่างๆ เพราะรายชื่อว่าที่รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร ได้ใช้มติของพรรค ดังนั้น จึงไม่มีอะไรแตกแยก

ส่วนที่มีกระแสข่าว นางนฤมล ลาออกเพื่อเตรียมไปทำหน้าที่เป็นรมช.แรงงานนั้น นายสมศักดิ์ ปฏิเสธว่า ยังไม่ทราบ และจะต้องรอความชัดเจน ภายหลังมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมก่อน และหากตำแหน่งโฆษกรัฐบาลว่างลง พรรคก็จะหารือบุคคลมาทำหน้าที่แทนอีกครั้ง หรือนายกรัฐมนตรี จะไปหาบุคคลเองก็ได้

ก้าวไกลปูดเลือกตั้งปากน้ำส่อทุจริต

ส่วนความเคลื่อนไหวเลือกตั้งซ่อมเขต 5 สมุทรปราการ นายอำนาจ สถาวรฤทธิ์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ ผอ.การเลือกตั้งพรรคก้าวไกล ได้ทำจดหมายส่งถึง พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มม่วง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในวันเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 5 สมุทรปราการ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 9 ส.ค.นี้

โดยพบว่าได้มีบุคคลจำนวนหนึ่ง เดินจดชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง และมีการเก็บบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันส่อว่าจะเป็นไปในทางทุจริต จนมีความกังวลขึ้นว่า การเลือกตั้งจะไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม

จึงได้ทำจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อขอให้ พล.ต.ต.ชุมพล ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ในเขตรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในวันเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด