'ศุภวุฒิ' ชี้เศรษฐกิจไทยส่อสะดุด พิษโควิดดัน 'หนี้เสีย' พุ่ง
“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” คาดเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปี 63 มีลุ้นสะดุด เหตุผลพวงปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่ส่อแววปูดขึ้นหลังหมดมาตรการผ่อนปรนแบงก์ชาติ หวั่นกระทบยอดปล่อยสินเชื่อชะงัก พร้อมห่วงมูลหนี้ขนาดใหญ่กว่าตอนวิกฤติปี40 ฟากนายวิน กว่าภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้น
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าคาดว่าภายในอีกหนึ่งสัปดาห์จะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีไทยงวดไตรมาส 2 ปี 2563 ออกมา ซึ่งหลายคนคาดว่าจะเห็นตัวเลขจีดีพีติดลบ 2 หลัก พร้อมกับคาดกันว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีและภายหลังจากนี้จะเริ่มเห็นเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าตัวเลขน่าจะออกมาในทำนองนั้น เพราะช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 มีการล็อกดาวน์ประเทศทุกอย่างและทำให้กิจกรรมการทางเศรษฐกิจต่างๆ ชะงักตัวลงไป อย่างไรก็ตามแต่ปัญหาคืออย่านึกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้จะทำได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเพียงการดูบางตัวเลขและบางตัวแปรเท่านั้น
ทั้งนี้ตัวแปรที่เป็นห่วงมากกว่าว่าข้างหน้าจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสะดุดได้และพอเป็นตัวเลขที่จะประเมินได้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดให้ลูกหนี้มาขอผ่อนปรนการผ่อนชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และหากมาดูจำนวนตัวเลขผู้ขอผ่อนปรนถึงวันที่ 15 มิ.ย.2563 พบว่ามีจำนวนกว่า 12.6 ล้านบัญชีที่ขอไม่จ่ายดอกเบี้ยและไม่คืนเงินต้น มูลค่าประมาณ 6.7 ล้านล้าบาท ซึ่งคิด 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด ซึ่งอันนี้สะท้อนถึงปัญหาของคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่มูลหนี้ที่ใหญ่ขนาดนี้ทำให้มีความเป็นห่วงอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีมูลหนี้ในกลุ่มนี้ราว 2.2 ล้านล้านบาท และมีจำนวน 1.1 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและกลุ่มที่สภาพคล่องไม่ยาว รวมถึงยังมีรายย่อยอีกกว่า 11.5 ล้านราย มูลค่าหนี้กว่า 3.77 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าขนาดของปัญหาตรงนี้ใหญ่กว่าตอนวิกฤติปี 2540 มาก
ส่วนในช่วงเดือนต.ค.นี้มาตรการผ่อนปรนของธปท.จะหมดลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ลูกหนี้มีการเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินจำนวนมากและอาจมีการชะลอการปล่อยวงเงินหรือการให้สินเชื่อใหม่และจะส่งผลให้มีโอกาสที่จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจมีการถูกปิดกิจการลง และคาดว่ามีโอกาสสูงที่จะฉุดให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 สะดุดลงไปอีก
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่ามองว่าแม้แนวโน้มเศรษฐกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ก็มีแรงต้านให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งประเมินว่าแม้จะมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำเร็จเข้ามาในช่วงสิ้นปีนี้ แต่กว่าภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้อาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือภายในปี 2565 เพราะเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าทุกคนจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ