ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ ในโลกหลัง COVID-19
เศรษฐกิจมหภาคและการเงินการคลังในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากศตวรรษก่อน หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ธนาคารกลางอัดฉีดรุนแรงเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ที่ทำให้เกิดนโยบายเศรษฐกิจแนวใหม่ในโลกหลังยุค COVID-19
อาจกล่าวได้ว่า โรคร้ายอย่าง COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกและทำให้ผู้ติดเชื้อกว่า 20 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 7 แสนคนนั้น ทำให้เกิดการถกเถียงและทฤษฎีใหม่ในศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์มหภาค
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อโรคระบาดได้ลุกลามทั่วโลกในเดือน มี.ค.-เม.ย. ทำให้ทางการทั่วโลกต้องปิดเมือง และระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกอย่าง ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่ 2 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่าศตวรรษ และทำให้ทางการต้องออกมาตรการการเงินการคลังรุนแรงชนิดที่ไม่เคยทำมาก่อน
หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล สภาพคล่องที่ธนาคารกลางชั้นนำที่อัดฉีดรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการที่ทางการเข้าซื้อหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ โดยตรง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคและการเงินการคลังในศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากศตวรรษก่อนอย่างแน่นอน
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคถูกคิดค้นขึ้นโดยจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำรุนแรง แนวคิดของเคนส์คือ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ภาคเอกชนไม่มีกำลังและ/หรือความต้องการซื้อ (Demand) ภาครัฐต้องเข้าช่วยบริโภคและลงทุนแทน และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเติบโตเต็มศักยภาพแล้ว ภาครัฐจะต้องลดการบริโภคและลงทุนลง
แนวคิดนี้นิยมอย่างกว้างขวางถึงช่วงทศวรรษ 70 ที่เงินเฟ้อและการว่างงานกลับมาสูงทั้งคู่ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการรวมหัวกันปั่นราคาน้ำมันของกลุ่ม OPEC ทำให้ มิลตัน ฟริดแมนคิดค้นแนวคิดการเงินนิยม (Monetarism) หรือแนวคิดที่จะจำกัดปริมาณเงินในระบบเพื่อคุมเงินเฟ้อ ทำให้ พอล โวคเกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐผู้เชื่อแนวคิดดังกล่าว ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อกดเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษ 80 ให้ลดลง แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
หลังจากเงินเฟ้อลดลงและเศรษฐกิจค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง นักเศรษฐศาสตร์มหภาคเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ จึงกำเนิดแนวคิด Flexible inflation targeting หรือเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือแทนที่จะใช้ปริมาณเงิน ขณะที่นโยบายการคลังถูกผลักให้ไปเป็นกองหลัง โดยหน้าที่หลักคือ ต้องกดให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ
แต่แม้จะใช้นโยบายที่สุขุมแล้วก็ตาม วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ก็ยังเกิดขึ้นได้ในปี 2008-2009 และเพื่อต่อกรกับวิกฤติดังกล่าว ธนาคารกลางทั่วโลกก็ได้ทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งการลดดอกเบี้ย ทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve control) ขณะที่รัฐบาลก็ทำนโยบายการคลังผ่อนคลายบ้าง ซึ่งผลโดยรวมแม้จะทำให้อัตราว่างงานลดลง แต่เงินเฟ้อก็ไม่กลับมา และในบางประเทศที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ก็จะเผชิญกับภาวะค่าเงินแข็งค่าและนำมาสู่ภาวะ "จมอยู่กับเงินฝืด" (Deflationary mindset)
และเมื่อ COVID-19 ลุกลามไปทั่วโลกและนำไปสู่การปิดเมืองขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน (The great lockdown) แล้วนั้น ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจการเงินการคลังทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไป 4 ประการ คือ
- การอัดฉีดนโยบายการคลังอย่างมหาศาล โดยเม็ดเงินรวมในปัจจุบันกว่า 17% ของ GDP โลก และรวมเม็ดเงินกว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มอัดฉีดต่อเนื่อง
- การพิมพ์ธนบัตรเพื่ออัดเงินเข้าระบบ หรือนโยบาย QE ที่ธนาคารกลางสำคัญอย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นอัดฉีดแล้วกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่คือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร (ซึ่งก็คือต้นทุนทางการเงินของภาครัฐและเอกชน) ยังคงอยู่ในระดับต่ำแม้รัฐบาลจะออกพันธบัตรเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม
- การที่ธนาคารกลางเข้าสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน รวมถึงเศรษฐกิจโดยตรง ผ่านทั้งการเข้าซื้อหุ้นกู้และตราสารการเงินระยะสั้น (Commercial Paper) ภาคเอกชน โดยเฉพาะในสหรัฐที่มีการเข้าซื้อถึงกว่า 11% ของมูลหนี้ภาคธุรกิจทั้งระบบ และ
- เงินเฟ้อทั่วโลกที่จะต่ำต่อเนื่อง อันเป็นผลสำคัญของวิกฤต COVID ที่ทำให้ผู้บริโภคกลัวความเสี่ยงมากขึ้น (Consumer risk-averse) ไม่กล้าจับจ่าย รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างต่าง ๆ เช่น สังคมสูงวัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง รวมถึงภาคเอกชนที่มีแนวโน้มที่จะเก็บออมเงินและจ่ายเงินปันผลมากกว่าจะลงทุนใหม่
จาก 4 ภูมิลักษณ์ที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ผู้เขียนมองว่าจะทำให้แนวนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังใหม่ในยุคหลัง COVID มีลักษณะ 3 ประการ คือ
(1) ทฤษฎีการเงินแนวใหม่ (Modern monetary theory: MMT) จะเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง โดยธนาคารกลางจะพิมพ์ธนบัตรเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรของภาครัฐโดยตรง ทำให้รัฐบาลได้รับเงินสดโดยตรงและสามารถนำเงินนั้นไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจระยะยาว เช่น โรงไฟฟ้าเพื่อพลังงานทางเลือก ระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อโทรคมนาคม และสนับสนุนโครงการสาธารณสุขเพื่อประชาชน เป็นต้น
(2) ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง จะทำให้ภาระทางการเงินของรัฐบาลและเอกชนสูงไปด้วย ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์บางฝ่ายจึงเชื่อว่าธนาคารกลางจะต้องกดดอกเบี้ยนโยบายให้ลงไปติดลบมาก ๆ (เช่น -3%) เพื่อให้ดอกเบี้ยเหล่านี้ส่งผ่านไปยังตลาดการเงิน ทำให้ผู้คนไม่อยากฝากเงิน และนำเงินไปจับจ่ายและลงทุน และอีกหนทางหนึ่งคือยุติการออกธนบัตรมูลค่ามาก แต่ออกเป็นเหรียญกษาปณ์แทน หรือถ้าดีกว่านั้นคือ ยุติการออกธนบัตรเลย และหันไปใช้เงิน Digital Currency แทน เพื่อทำให้ต้นทุนการเก็บเงินสดสูงขึ้น และ
(3) แนวนโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่ผ่านมา หลายฝ่ายเชื่อว่า การกระตุ้นภาครัฐ โดยเฉพาะ QE และมาตรการการคลังจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ได้แก่ภาคการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ แต่คนรากหญ้าหรือ Main street ไม่ได้รับประโยชน์ ดังนั้นแนวนโยบายในช่วงต่อไปจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมมากขึ้น เช่น ยุติการหักลดหย่อนภาษี และหันไปให้ Universal Basic Income หรือเงินรายได้พื้นฐานให้แก่ประชาชนแทน
กล่าวโดยสรุป นโยบายเศรษฐกิจแนวใหม่ในโลกหลังยุค COVID-19 คือ การลดพรมแดนระหว่างนโยบายการเงินการคลังในยุคต่อไป โดยให้นโยบายการเงินเข้าสนับสนุนนโยบายการคลังในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ท่ามกลางเงินเฟ้อที่จะต่ำไปอีกนานจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ถือกำเนิดแล้ว นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย นักธุรกิจและนักลงทุน เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง