ท่องเที่ยวทรุด! ฉุด 'เศรษฐกิจไทย' โตยาก
นักเศรษฐศาสตร์โนมูระชี้ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สกัดโควิด-19 ระบาดสำเร็จ แต่ความไม่แน่นอนทั่วโลกจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทยยังซบเซาขาดแรงหนุนเศรษฐกิจโดยรวม
นายยูเบน พาราคิวเลส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของธนาคารโนมูระ กล่าวในรายการ “Street Signs Asia” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ในภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีที่สุดก็คือรูปตัว U หมายถึง เศรษฐกิจถดถอยและอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นเวลานานก่อนค่อยๆ ฟื้นตัว เพราะว่าโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจเข้าสู่ขาลงยังคงมีอยู่
นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ อธิบายถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ที่แม้ประสบความสำเร็จกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การท่องเที่ยวที่ตกต่ำได้ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และผลกระทบต่อการท่องเที่ยวรับยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะผ่อนคลายการปิดพรมแดนหรือมีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันอีกครั้ง
รายงานล่าสุดจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ระบุว่า ไทยอาจเป็นประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากการสูญเสียรายได้ภาคการท่องเที่ยว
อังค์ถัดประเมินสถานการณ์ที่ดีที่สุดว่า ไทยอาจสูญเสียรายได้ภาคการท่องเที่ยว 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือราว 4.77 หมื่นล้านดอลลาร์
นายพาราคิวเลสตั้งข้อสังเกตว่า การท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพียงตัวเดียวมาตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด “เมื่อส่วนนี้หายไป การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงทำได้ไม่มากนัก”
ส่วนสิงคโปร์ที่ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์บางส่วนมากกว่า 1 เดือนแล้ว แต่การที่ไวรัสระบาดรอบใหม่ทั่วโลก อาจส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการของสิงคโปร์ เนื่องจากตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก เศรษฐกิจสิงคโปร์จึงต้องพึ่งพาความต้องการจากภายนอกเป็นหลัก
ด้านอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ 2 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงสาละวนอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจเสียหายด้วยกันทั้งคู่
เมื่อวันพุธ (5 ส.ค.) อินโดนีเซียรายงานเศรษฐกิจหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี หลังจากจีดีพีไตรมาส 2 หดตัว 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดี (6 ส.ค.) ฟิลิปปินส์ รายงานเศรษฐกิจหดตัว 16.5% จากปี 2562 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์