ผลงานรัฐมนตรีใหม่ พิสูจน์ฝีมือนายกฯ
การปรับ ครม.ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งแรก ได้รัฐมนตรีใหม่ 6 คน นับว่าเป็นที่จับตาอย่างมาก โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาดูกระทรวงเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจของไทยต้องการฟื้นฟูอย่างถูกต้องถูกจุด เพื่อฟื้นจากไข้วิกฤติโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้รัฐมนตรีใหม่ 6 คน จากการปรับทั้งหมด 7 ตำแหน่ง การปรับ ครม.ครั้งนี้ถูกจับตาไปที่รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งเข้ามาทดแทนคนเดิมที่เป็นอดีตแกนนำของพรรคพลังประชารัฐที่ต้องลาออกไปจากทั้งตำแหน่งใน ครม.และตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้หลายต้องการให้เข้ามาเร่งฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด
ช่วงที่ผ่านมาหลายสัปดาห์ที่ทั้ง 4 กระทรวงไม่มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนงาน คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถึงแม้ว่าจะมีรักษาการมาช่วยดูแลงานชั่วคราว แต่ในภาวะที่ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้ทุกหน่วยงานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสปีดการทำงานให้มากกว่าในสถานการณ์ปกติ
กระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมามีบทบาทหลักในการกำหนดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเยียวยาผลกระทบให้ประชาชน เกษตรกรและกลุ่มเปราะบาง
ในขณะที่วงเงินสำหรับการเยียวยาใช้ไปมาแล้วทั้งในส่วนวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ รวมถึงวงเงินจากงบกลางที่จัดสรรจากงบประมาณ 2563 ทำให้วงเงินหลักที่เหลืออยู่ในขณะนี้ คือ วงเงินฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด 400,000 ล้านบาท ที่กำลังทยอยอนุมัติ แต่เป็นการอนุมัติที่มีความระมัดระวังและมองปัจจัยกรณีมีการระบาดในรอบ 2 ด้วย จึงถือว่ากลไกที่ใช้สำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิดมีข้อจำกัดทางงบประมาณเพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นการวัดฝีมือของรัฐมนตรีใหม่ทั้ง 6 คน ที่จะมาขับเคลื่อนแต่ละกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูผลกระทบจากการการระบาดของโรคโควิด และที่สำคัญจะเป็นการพิสูจน์ฝีมือของนายกรัฐมนตรีในการนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีควรมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยสร้างความเป็นทีมเศรษฐกิจรัฐบาลให้มากขึ้น รวมถึงการใช้ทีมที่ปรึกษา ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น