'EA'หวังลงทุนเขื่อนในลาวสร้างรายได้มั่นคง
"EA"ยังไม่มีแผนเพิ่มทุน มั่นใจสภาพคล่องดี มีกระแสเงินสดปีละหมื่นล้านบาท แย้มอาจหาพันธมิตรเพิ่มลงทุนสร้างเขื่อนในลาว หวังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือราว 40%
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทพลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัท ยังไม่มีแผนเพิ่มทุมในขณะนี้ แม้ว่า ล่าสุด บริษัท ได้ร่วมกับพันธมิตรเข้าไปลงทุนโครงกาขนาดใหญ่ในลาว คือ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติของลาว เพื่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Saravan Downsteam Hydropower Project และ Phamong Hydropower Project กำลังการผลิตรวมประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ คาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณหลักแสนล้านบาท หรือ 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าว บริษัท ถือหุ้นในสัดส่วน 50% และพันธมิตรอีก 50% ซึ่งโครงการนี้ร่วมกับพันธมิตรอีก 3 ราย (ผู้ร่วมพัฒนา) ได้แก่ Chaleun Sekong Energy Company Limited, ลาว, Vega Digital Company Limited, ประเทศไทย และ PSL Service Sole company Limited,ลาว ซึ่งบริษัท มองว่าโครงการนี้ มีศักยภาพที่จะขายไฟฟ้าให้กับเวียดนาม ที่ยังมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ และไทยกับลาว ก็มีข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันถึง 9,000 เมกะวัตต์ และในจำนวนนี้น่าจะเหลือในส่วนที่ยังไม่ได้ทำสัญญากันประมาณ 3,000 เมกะวัตต์
“โครงการนี้ เป็นมีขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนมาก แต่ในระยะยาวจะสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งผู้ร่วมพัฒนาจะได้ดำเนินการร่วมสำรวจ ศึกษาผลกระทบ และประเมินความเป็นไปได้ ภายใต้ขอบเขตการศึกษาและพัฒนา ที่กำหนดโดยรัฐบาลลาว จึงเชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการเงินลงทุนได้ เพราะกว่าเขื่อนจะสร้างเสร็จก็คงต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี และในอนาคตบริษัท ยังพิจารณาตัดขายหุ้นบางส่วน หรือลดสัดส่วนถือหุ้นลง อาจอยู่ที่ 40% จากปัจจุบันถืออยู่ที่ 50% ซึ่งจะเป็นการเจรจาเพื่อหาพันธมิตรใหม่เพิ่มเข้ามาได้”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัท จะมีโครงการในมือจำนวนมากที่อยู่ระหว่างขยายการลงทุน แต่เชื่อมั่นว่า ยังสามารถบริหารจัดการด้านการเงิน เพราะมีกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินธุรกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และหากโรงงานแบตเตอรี่ เฟสแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ แล้วเสร็จ ก็จะทำให้มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ เฟสแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ คาดว่า จะแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ และเริ่มการผลิตได้ต้นปีหน้า ซึ่งแบตเตอรี่ที่ผลิตได้ในเฟสแรก จะนำมาใช้กับรถบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า ของบริษัทก่อน ส่วนจะขยายเฟสที่สอง เป็น 2-3 กิกะวัตต์นั้น ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งหากโรงงานแบตเตอรี่ เติบโตทันภายใน 3-4 ปีนี้ ก็จะมีรายได้เข้ามาช่วยปิดช่องว่าง การได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) โรงไฟฟ้าโซลาร์และพลังงานลมของบริษัท กำลังผลิตรวมกว่า 600 เมกะวัตต์ที่จะเริ่มทยอยหมดอายุ ช่วงปี 2565-2568
นอกจากนี้ บริษัท ยังเตรียมหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material : PCM) ไปเจาะตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นอกเหนือจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง หลังจาก บริษัทได้จัดส่งสาร PCM ไปทดสอบคุณสมบัติและมาตรฐานเพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้ากันความร้อนหรือหนาวกับบริษัทต่างชาติทั้งอินเดีย จีนและไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า
ปัจจุบัน บริษัท ได้ส่งออกสาร PCM ไปญี่ปุ่น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารและที่อยู่อาศัย แต่ความต้องการใช้สาร PCM ในตลาดญี่ปุ่นยังไม่มากพอ ขณะที่ตลาดในไทย ก็ยังไม่มีข้อบังคับเรื่อง Zero Energy House ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พลังงาน โดยสาร PCMจะช่วยในการรักษาอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนได้ ทำให้การใช้สาร PCM ในไทยยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากมีต้นทุนสูง
ทั้งนี้ โรงงานผลิต PCM ของ EA มีกำลังการผลิต 130 ตันต่อวัน แต่มีการใช้อัตราการผลิตเพียง 30-40% ของกำลังการผลิตรวม เนื่องจากสาร PCM มาร์จินดี แม้ว่าจะเดินเครื่องจักรเพียง 30-40% แต่ธุรกิจนี้ก็สร้างกำไรอยู่