“เขียง”ผนึก“เล็ทแพล็นมีท” ดิสรัปอุตฯผลิตเนื้อ
เทรนด์ของคนไม่ทานเนื้อมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ในเหตุผลที่ต่างกัน บางคน เพื่อสุขภาพ อยากทำบุญ รักษ์โลก เพราะกรรมวิธีการผลิตเนื้อจากสัตว์นั้น
ใช้พลังงานสิ้นเปลือง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซมีเทนจากวัวเพิ่มปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า ปรากฎการณ์โลกร้อน จึงเป็นโอกาสทางการตลาดของนวัตกรรมการผลิตเนื้อ ที่ไม่ได้มาจากจากสัตว์ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้เทรนด์นี้จะร้อนแรงมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐและยุโรป โดยในสหรัฐอเมริกา บริษัท Impossible Foods, Burger King, McDonald’s และKFC ได้ออกผลิตภัณฑ์เนื้อเทียม ตอบโจทย์เทรนด์ทางเลือกคนไม่บริโภคเนื้อ หรือ สายวีแกน ที่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 80% จาก 20 ล้านคนในปี 2557 เป็น 80 ล้านคนในปี 2561 มีการเปิดตัวเมนูเนื้อจากพืชในฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังปรากฎว่า ตลาดตอบรับดีเกินคาด
ทว่า สำหรับเมืองไทย ชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหาร และวัฒนธรรมการกินติดอันดับโลก รสชาติความอร่อยอาจเป็นสิ่งสำคัญ ที่มาก่อนความตระหนักรักษ์โลก เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มคนทานเนื้อจากพืช ยัง“จำกัดวง”เฉพาะคนทานมังสวิรัติ เทศกาลกินเจ และคนป่วย คนดูแลสุขภาพ
นี่จึงถือเป็นความ "ท้าทาย" ที่ต้องแก้โจทย์ กลายเป็นการโคจรมาพบกันของธุรกิจคนรุ่นใหม่ ระหว่าง“เขียง”บายตำมั่ว ร้านอาหารในเครือของเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ร้านอาหารตามสั่งคอนเซ็ปต์สตรีทฟู้ดที่เปิดตัวไปกว่า 1 ปีครึ่งขยายไป 70 สาขา มาพบกันกับผู้ผลิตเนื้อจากพืช "เล็ท แพล็น มีท”(Let’s Plant Meat) สตาร์ทอัพผู้ผลิตเนื้อจากพืชสัญชาติไทย เครือบริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ที่เติบโตจากธุรกิจจัดจำหน่ายผัก ก้าวสู่นวัตกรรมผลิตเครื่องปรุงอาหาร
สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการบริษัท นิธิฟู้ดส์ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเล็ท แพล็น มีท เล่าว่า ปัจจุบันการผลิตเนื้อจากพืชของบริษัทได้ จำหน่ายกระจายไปยังซูเปอร์มาเก็ต และตลาดคนรักสุขภาพมากกว่า 100 สาขา อาทิ เทสโก้ โลตัส, กู้ร์เมต์ มาร์เก็ต,โฮมเฟรชมาร์ท, อิออน แม็กซ์แมลู, เจ กูร์เมนต์ และฟู้ดแลนด์ รวมถึงสมุยเฮลท์ช็อป กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง นำเนื้อจากพืช ไปพัฒนาเมนูกระเพราเนื้อจากพืช หรือ เนื้อไม่ใช่เนื้อ ใน 70 แห่งของ “เขียง”
ถือเป็นครั้งแรกของการนำผลิตภัณฑ์เนื้อไม่ใช่เนื้อเข้าไปเจาะตลาดร้านอาหาร ซึ่งเป็นร้านสตรีทฟู้ด ไม่ใช่ร้านอาหารเฉพาะมังสวิรัต หรือสายรักสุขภาพ เป็นโอกาสในการทดลองนำเนื้อไม่ใช่เนื้อเข้าไปเป็นทางเลือกในการรับประทานให้กับกลุ่มคนทั่วไป
“ที่ผ่านมาการวางจำหน่ายเนื้อไม่ใช่เนื้อหลังจากผลิตออกมายังจำกัดวงแค่เพียงผู้ไม่ทานเนื้อ แต่เมื่อได้ไปคุยคอนเซ็ปต์และแนวคิด ของเขียง และพัฒนาเมนูกระเพราเนื้อจากเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อที่จะเปิดตัว 10 ส.ค.นี้เป็นครั้งแรกที่นำผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชอยู่ในร้านอาหารทั่วไปได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เลือกทานได้ในชีวิตประจำวัน หากต้องการทาน เสมือนเช่น การเลือกทานไก่ หมู ปลา หรืออาหารทะเลในบางวันที่ไม่ซ้ำกัน การเปิดตัวกับเขียงจะเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่อาจจะดิสรัป ทำให้คนทั่วไปมีทางเลือกในการทานเนื้อที่ไม่ใช่เนื้อ ได้ทดลองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาทานเนื้อจากพืชในวันที่อยากทาน โดยไม่ต้องรอให้ป่วย หรือ เทศกาลทานเจ“
ด้านศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เล่าว่า ปัจจุบันได้ขยายหลายแบรนด์ เช่น ตำมั่ว,เดอ ตำมั่ว,แจ่วฮ้อน,ข้าวมันไก่คุณย่า,ครัวไทยโดยมีเขียง แบรนด์ล่าสุดเน้น “รสชาติ จัดจ้าน ถึงเครื่อง ถึงใจ” คอนเซ็ปต์สตรีทฟู้ด ที่มุ่งเน้นรสชาติเข้มข้นถูกปากคนไทยเป็นอันดับแรก ดังนั้นเป้าหมายของการนำเนื้อไม่ใช่เนื้อมาแนะนำในร้านจึงเป็นทางเลือกให้กับคนทั่วไป ที่ไม่ได้วางเป้าหมายถึงการรักษ์โลก หรือ ทำบุญที่เป็นผลพลอยได้ สิ่งที่จะทำให้สร้างการรับรู้เข้าไปอยู่ในพฤติกรรมการรับประทานของคนไทยจนได้รับการยอมรับคือ “รสชาติ” เป็นอันดับแรก
“คอนเซ็ปต์ของร้าน คือการทำอาหารให้อร่อย รสชาติเข้มข้นถึงเครื่อง การแนะนำเมนูเนื้อไม่ใช่เนื้อ จึงไม่ได้ต้องการแทนที่เนื้อทั่วไป หรือจับตลาดคนมังสวิรัติ แต่ต้องการทำให้กลมกลืนกับ จนเนื้อชนิดนี้เป็นทางเลือก โดยที่ยังมีรสชาติความอร่อยในแบบรสชาติเนื้อจากพืช ที่ทานได้ทั้งปี ไม่ต้องรอเทศกาล บางวันอยากทานเบาท้อง”
กลยุทธ์การทำการตลาดเนื้อไม่ใช่เนื้อ จึงเน้นการทดลองตลาด ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาทานเปิดใจ และทดลองทาน รับฟังคอมเมนท์และนำไปปรับปรุงให้รสชาติตอบโจทย์คนไทยมากที่สุด ซึ่งเป็นโอกาสดีในการนำผลิตภัณฑ์อาหารไทยไปบุกตลาดโลกด้วยกันโดยเริ่มต้นจากประเทศเพื่อนบ้านที่เขียงและร้านอาหารในเครือเซ็น ไปรุกไปขยายสาขา
การจับคู่ธุรกิจทั้ง 2 เป็นการเติบโตแบบมีพันธมิตรที่จะทำให้เติบโตได้เร็ว และขยายได้หลากหลาย ซึ่งทางเขียงจะได้ประโยชน์ในการการันตีกับลูกค้าถึงแหล่งผลิตวัตถุดิบ และมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นให้ผู้บริโภคในร้าน ขณะที่เล็ท แพล็น มีท เปิดตลาดโดยการแนะนำให้ลูกค้าทดลองชิม เพื่อสร้างโอกาสในการสั่งสินค้าไปปรุงที่บ้าน และขยายไปสู่ตลาดส่งออก