‘ท่าอากาศยานฯ’ฟื้นช่วงสั้น รับข่าววัคซีน-ลุ้นครม.กระตุ้นท่องเที่ยว
“การท่องเที่ยว” ถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของจีดีพี ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกปี
โดยล่าสุด ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแพ็คกระเป๋าเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเที่ยวไทยถึง 39.8 ล้านคน สร้างรายได้รวมกว่า 3.01 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยจีนยังคงเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย เกือบ 11 ล้านคน
จากสัญญาณที่สดใสทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมั่นใจว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลุ 40 ล้านคนอย่างแน่นอน จนมาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งเริ่มจากเมืองอู่ฮั่นของจีน ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลก จนทุบเศรษฐกิจเสียหายหนัก
ไทยในฐานะที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ไปเต็มๆ ซึ่งหากย้อนดูการระบาดในประเทศ เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ.
จนรัฐบาลต้องงัด พรก.ฉุกเฉิน ออกมาใช้เพื่อควบคุมโรคระบาด มีการสั่งปิดสถานที่จุดเสี่ยงต่างๆ จำกัดการเดินทางของคนในประเทศ และนำไปสู่การล็อกดาวน์ปิดประเทศ ห้ามสายการบินพาณิชย์เข้าไทย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.
ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น “ศูนย์” มาเกือบ 5 เดือนแล้ว กระทบธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปหมด เริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ “สนามบิน” ซึ่งถือเป็นประตูด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่เมื่อปิดประเทศจึงรับผลกระทบเต็มๆ
สะท้อนจากผลประกอบการของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งบริหารสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ภูเก็ต และหาดใหญ่ งวดล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2563 (1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2563) เข้าขั้นวิกฤต
พลิกขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปี ถึง 2,960.99 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,896.91 ล้านบาท และ ไตรมาสก่อนที่มีกำไร 3,647.65 ล้านบาท แม้การระบาดของโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่ในต่างประเทศยังวิกฤต
ส่งผลให้รายได้จากกิจการการบินเหลือเพียง 211.70 ล้านบาท ลดลง 8,110.38 ล้านบาท หรือ 97.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,322.08 ล้านบาท ส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน ซึ่งหลักๆ แล้ว คือ ค่าสัมปทานและค่าเช่า ลดลงเช่นกันอยู่ที่ 1,107.76 ล้านบาท ลดลง 5,685.05 ล้านบาท หรือ 83.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6,792.81 ล้านบาท หลังได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการขยายเวลาชำระค่างวดออกได้
ทั้งนี้ หากหักกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 2 ล้านบาท และรายการพิเศษจากการกลับรายการโบนัสพนักงาน 940 ล้านบาท การตั้งสำรองหนี้สูญของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จำนวน 320 ล้านบาท จะทำให้ผลการดำเนินงานปกติขาดทุนราว 3.56 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ว่าจะขาดทุนราว 3.9-4 พันล้านบาท
กดดันราคาหุ้น AOT ในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ดิ่งหนักกว่า 20% จากระดับ 60 บาท ลงมาต่ำกว่า 50 บาท ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในการซื้อขาย 2 วันทำการล่าสุด โดยปิดตลาดวานนี้ (13 ส.ค.) ที่ 56.25 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท หรือ 5.63% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน “สปุตนิก 5” ของรัสเซีย กลายเป็นความหวังครั้งใหม่ ซึ่งหากได้ผลจริงถือว่าเป็นผลสำเร็จที่มาเร็วเกินคาด
ขณะที่ในประเทศมีความหวังว่า ครม.ใหม่ จะเร่งฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเอกชนเสนอให้ต่ออายุโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไปถึงไตรมาส 1 ปี 2564 จากเดิมจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ต.ค. นี้ เพื่อชดเชยตลาดต่างประเทศที่ยังเข้ามาไม่ได้
ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มเสี่ยงต่ำ เข้าไทยในช่วงไตรมาส 4 นี้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมากับกรุ๊ปทัวร์ ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ต้องตรวจหาเชื้อโควิดทั้งก่อนและหลังเข้าไทย และท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่อง เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย แต่ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ก่อน
แน่นอนว่าหากสามารถทยอยเปิดประเทศได้จริงน่าจะช่วยเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้พอสมควร ทำให้บรรดากูรูมองว่าจุดต่ำสุดของ AOT น่าจะผ่านไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนไตรมาส 4 นี้ (1ก.ค.-30ก.ย. 2563) แม้ยังขาดทุนแต่จะลดลงจากไตรมาสก่อน
ส่วนประเด็นการปรับสัญญากับ “คิง เพาเวอร์” มาเป็นการจ่ายขั้นต่ำตามจำนวนผู้โดยสารสะท้อนไปที่ราคาหุ้นพอสมควรแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจะหมดไป เพราะยังไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น? จะมีการระบาดรอบใหม่? วัคซีนจะได้ผลหรือไม่? ล้วนเป็นเรื่องของอนาคตที่ยากคาดเดา ดังนั้น ใครจะลงทุน AOT คงต้องรับความเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้