นายกฯเผยทางเลือกใหม่ เพื่อเปลี่ยนหน้าการศึกษาไทย
"บิ๊กตู่" ระบุ การศึกษายกกำลังสองไม่พอต้องยกกำลังห้า ชวนเอกชนเข้ามาช่วยการจัดการศึกษาพัฒนาเด็ก ขณะที่โรงเรียน ครูเลิกคัดเด็กจากการสอบเน้นดูพรสวรรค์เด็ก ยึดความต้องการของเด็กเป็นที่ตั้ง ขณะที่รมว.ศธ. ชี้การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ สู่การเรียนรู้ที่ออกแบบได้ตามความสามารถในศตวรรษที่ 21
วันนี้( 17 ส.ค.)เวลา 13.30 น.ที่อาคารทรู ดิจิทัล ปาร์ค สุขุมวิท กรุงเทพฯ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานการศึกษายกกำลังสอง หัวข้อ ‘จากรัฐสู่การศึกษาร่วมกับเอกชน’ ยกกำลังสองการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยต้องมีทางเลือกใหม่ เพื่อเปลี่ยนหน้าการศึกษาไทยให้ได้ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้มีการแก้ปัญหาการศึกษาโดยบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน
ดังนั้น อยากให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา ต้องร่วมหาบทบาทของเด็กให้เจอ และกำหนดตัวชี้วัด การประเมินที่ต้องเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษา ขณะที่ครูต้องให้ความสนใจในเรื่องการศึกษา ผลการสอนควรเป็นอย่างไร เพราะการสอนต้องมีทั้งในห้องเรียน และระบบดิจิทัล ต้องมีการเตรียมครู และนักเรียน รวมถึงอย่าคัดเด็กโดยการสอบแต่คัดจากพรสวรรค์ของเด็ก และต้องมีการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการด้วย
"โลกเปลี่ยนไปจากเดิม การศึกษายกกำลังสองน้อยไป อยากให้ยกกำลังห้าดีกว่า เพราะเรื่องการศึกษาต้องทำให้เร็วโดยต้องไปดูว่าเด็กต้องการอะไร อยากได้อะไร เช่น ลดการบ้าน ลดการสอบต่างๆ ไม่ใช่ว่าครูสอนทุกวิชาแล้วให้การบ้านทุกวิชา ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม อย่าสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง"นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวบรรยายพิเศษว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาได้รับฟังปัญหาเรื่องการศึกษาในพื้นที่ต่างๆจนมีความตั้งใจที่จะนำระบบการศึกษามาเป็นกลไกลขับเคลื่อนการสร้างทุนมนุษย์ แม้การทำงานด้านการศึกษาจะมีการบูรณการร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน แต่กลับพบว่าเมื่อลงมือทำงานการศึกษาจริงๆกลับเป็นต่างคนต่างทำไม่ร่วมมือกันทำงาน ซึ่งส่งผลให้การแก้ปัญหาการศึกษายังไม่เกิดคุณภาพเท่าที่ควร เพราะตนไม่อยากใช้มาตรฐานหรือไม้บรรทัดอันเดียววัดคุณภาพทั้งประเทศ เช่น อยากจะสร้างโรงเรียนความเป็นเลิศจะต้องมุ่งความเป็นเลิศในด้านไหน เป็นต้น
สำหรับการศึกษายกกำลังสอง คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ สู่การเรียนรู้ที่ออกแบบได้ตามความสามารถในศตวรรษที่ 21 โดยมีสื่อการเรียนรู้ยกระดับประสบการณ์ผ่านสื่อผสมผสานจากนักเรียน ห้องเรียน ครู ในส่วนของการพัฒนาครูเราจะเพิ่มโอกาสให้คนเก่งมาเป็นครูควบคู่กับการพัฒนาครูให้เก่ง
โดยการดำเนินการทั้งหมดนี้มีกลไกขับเคลื่อน คือ หน่วยงานพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ (HR) เพื่อตอบโจทย์อาชีพอุตสาหกรรม และธุรกิจ และหน่วยบริหารจัดการองค์ความรู้ของประเทศที่จะตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงปลดล็อคกลไกขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วนนนำภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมจับมือเป็นรูปธรรม เพื่อปฎิรูปการศึกษาสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริง