อบรม กลั่นน้ำมันหอมระเหย เร่งสร้างอาชีพ-รายได้ หลังโควิด-19
ราชมงคลสกลนคร เปิดอบรมการกลั่นน้ำมันหอมระเหยและการต่อยอดสู่สินค้าเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ รุ่นที่4 หลังหมดโควิด เร่งสร้างอาชีพ-รายได้ให้คนไทย
ผศ.ดร.นำพน พิพัฒน์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ผู้เชี่ยวชาญด้านการกลั่นน้ำมันหอมระเหยในระดับอุตสาหกรรม ผู้ออกแบบระบบการกลั่นน้ำมันหอมระเหยในโรงานกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์ต้นแบบ มทร.อีสาน วข.สกลนคร และเป็นนักวิจัยที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันหอมระเหยในระดับอุตสาหกรรมและนำเสนอข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันหอมระเหยมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า
ภายหลังจากการอบรมการกลั่นน้ำมันหอมระเหย 3 รุ่นที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมการกลั่นน้ำมันหอมระเหยและการต่อยอดสู่สินค้าเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ มีผู่ผ่านการอบรมไปแล้วมากกว่า 150 คน นับว่ามีผลการตอบรับที่ดีมากถึงคุณภาพด้านวิชาการ การถ่ายทอดความรู้จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดได้จริงจากผู้อบรมที่ผ่านการอบรมโครงการดังกล่าว จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เปิดการอบรมรุ่นที่ 4 เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการอบรมนี้เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจสร้างอาชีพ สร้างรายได้ต่อไป ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงได้จัดอบรมการกลั่นน้ำมันหอมระเหยรุ่นที่ 4 นี้ขึ้น
ซึ่งการจัดอบรมรุ่นที่ 4 นี้เป็นหลักสูตร 2 วัน อบรมระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2563 ณ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.พังโคน จ.สกลนคร เพื่อการสร้างรายได้ของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมแล้ว ณ เวลานี้ รับผู้สมัครเข้ารับการอบรมจากบริษัท ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตร ผู้นำชุมชน นักวิชาการ และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ผู้สนใจทั่วไปจากทั่วประเทศ ไม่จำกัดอายุ เข้าร่วมรับการอบรมครั้งนี้โดยหัวข้อการอบรมประกอบไปด้วยการบรรยายและกิจกรรม workshop ต่างๆ ดังต่อไปนี้
อาทิเช่น ต้นน้ำของน้ำมันหอมระเหยคือ การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้คุณภาพ การบำรุงรักษาให้ปลอดภัยจากสารพิษ การกำจัดวัชพืชที่ถูกต้อง วิธีการเก็บเกี่ยวให้ได้วัตถุดิบที่มีกลิ่นหอมที่สุดและได้คุณภาพดีที่สุด และมูลค่าสมุนไพรไทยในรูปแบบต่างๆ กลางน้ำของน้ำมันหอมระเหยคือวิธีการแปรรูปจากสมุนไพรให้เป็นน้ำมันหอมระเหยคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเนื้อหาการอบรมพูดถึงการเลือกใช้เครื่องกลั่น และวิธีการกลั่นที่เหมาะสมกับสมุนไพรแต่ละประเภท รวมถึงเทคนิคการกลั่นที่เหมาะสมกับพืชสมุนไพรแต่ละชนิดให้ได้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสมและน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมตามต้องการ การสกัดเย็นน้ำมันจากพืชต่างๆ
สุดท้ายปลายน้ำของน้ำมันหอมระเหย คือการอบรมต่อยอดน้ำมันหอมระเหยสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยการอบรมมี work shop การผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยเช่น โลชั่น สบู่ก้อน ลิปบาล์ม น้ำมันนวด ยาสระผม ครีม โลชั่น เซรั่ม สเปรย์ดับกลิ่น น้ำยาฆ่าเชื้อโควิด เกลือสปา หรืออื่นๆ ที่ผู้เข้ารับการอบรมสนใจ โดยใช้ส่วนผสมจากน้ำมันหอมระเหยแท้ร้อยเปอร์เซนต์จากการกลั่นน้ำมันหอมระเหยของโรงงานกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์ต้นแบบ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร โดยการอบรมดังกล่าวจะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทราบถึงต้นทางของน้ำมันหอมระเหย การแปรรูปจากวัตถุดิบต้นทางให้กลายเป็นน้ำมันหอมระเหยคุณภาพสูง และสุดท้ายจากน้ำมันหอมระเหยเป็นสินค้าที่สามารถจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ทั้งภาคทฤษฏีและการลงมือปฏิบัติจริงจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยผู้เข้ารับการอบรมยังได้รับผลิตภัณฑ์ที่ได้ลงมือทำเองกลับบ้านทุกคน
ผศ.ดร.นำพน กล่าวต่อว่า การผลิตน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทย นับเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลของประเทศและทำประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากจนถึงระดับโลกได้ สามารถใช้เป็นกิจกรรมโครงการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ช่องทางหนึ่ง กล่าวคือ การทำน้ำมันหอมระเหยใช้วัตถุดิบจำนวนมากถึงจะได้น้ำมันหอมระเหยโดยเฉลี่ยทั่วไปแล้ววัตถุดิบ 1,000 ส่วนได้น้ำมันเพียง 1 ส่วนเท่านั้น การผลิตน้ำมันหอมระเหยจึงต้องใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพจำนวนมากมาผลิต ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรสามารถสร้างรายได้อย่างมาก และเมื่อแปรรูปเป็นน้ำมันหอมระเหยแล้วน้ำมันหอมระเหยที่ได้สามารถต่อยอดไปเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณสมบัติที่ดีต่างๆ ได้มากมาย
ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่สามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าต่างๆ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดการซื้อขายหมุนเวียนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้ไม่จำกัดเพดาน สุดท้ายเศรษฐกิจระดับประเทศ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันหอมระเหยหรือหัวน้ำหอมต่างๆ เข้าประเทศจำนวนมากหลายร้อยล้านบาทในแต่ละปีอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้ามประเทศไทยเรามีพืชที่สามารถผลิตน้ำมันหอมระเหยได้มากมายและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเช่นกันเพราะการผลิตน้ำหอมในโลกนี้อาศัยการผสมน้ำหอมหลากหลายกลิ่นจากหลากหลายประเทศเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้กลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของน้ำหอมนั้นๆ
น้ำหอมบางชนิดต้องผสมจากน้ำมันหอมระเหยหรือหัวน้ำมันต่างๆ มารวมกันมากกว่า 100 หรือ 200 ชนิดที่เดียวจึงถึงจะได้กลิ่นที่ต้องการ จึงเป็นความน่าสนใจที่ประเทศไทยเราจะทำน้ำมันหอมระเหยขายส่งออกต่างประเทศได้และทำเงินเข้าประเทศได้เช่นกัน ซึ่งวัตถุดิบ องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเรามีพร้อมในประเทศไทยอยู่แล้วสามารถดำเนินการได้ในทันที
สุดท้ายหากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรต่างๆ ผู้ประกอบการ นักศึกษา นักวิจัย บุคคลทั่วไป และเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อเข้าร่วมการอบรมรุ่นที่ 4 หลักสูตร 2 วัน ในวันที่ 5-6 กันยายน 2563 สามารถติดต่อขอข้อมูลและการจัดการอบรมได้ที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.พังโคน จ.สกลนคร โทรศัพท์ 042-772285 หรือโทรติดต่อ ผศ.ดร.นำพน พิพัฒน์ไพบูลย์ 080-8968822 และ คุณอภิชาต ราชคำ 065-2379665