'หมอวรงค์' เปิดตัวกลุ่ม 'ไทยภักดี' ชู 6 จุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง
"หมอวรงค์" เปิดตัวกลุ่ม "ไทยภักดี" ชู 6 จุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง ไม่ยุบสภาฯ ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ และดำเนินการตามกฎหมายกลุ่มเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 19 ส.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14:00 น. ที่โรงแรมยู สาธร กรุงเทพฯ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แถลงเปิดตัว "กลุ่มไทยภักดี" ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งรวม 27 คน โดยนพ.วรวค์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มไทยภักดี แถลงจุดยืน 6 ข้อและ 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่
- ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ร่วมกับวัฒนธรรม วีถีไทย ที่มีรากเหง้า มากว่า 800 ปี
- กลุ่มไทยภักดี ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับสังคมไทย ต่อต้านการปกครองระบอบประธานาธิบดี ต่อต้านระบบสมาพันธรัฐ การแบ่งแยกประเทศ แต่ไม่ปฏิเสธการกระจายอำนาจ ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
- ยืนยันพัฒนาประเทศบนพื้นฐานหลักวิถีไทย และสืบสานความเป็นไทย
- กลุ่มไทยภักดี เชื่อว่า กลุ่มทุนผูกขาด เป็นปัญหาสำคัญต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน
- สนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัย ของคนทุกกลุ่มรวมทั้งเกษตรกร เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ
- ไม่ปฏิเสธการลงทุนจากต่างชาติ ไม่ปฏิเสธทุนใหญ่ แต่ต้องวางรากฐานชาติด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพราะอดีตที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร ประเทศไทยก็อยู่รอดได้ บนหลักเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ ยังเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มไทยภักดี ได้แก่
1. ต้องไม่ยุบสภา เพราะวิกฤติ COVID-19 ที่ยังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกและการแก้ปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังไม่ลุล่วง ความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำรอบ 2 ในไทยยังมีขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติการระบาดอย่างหนัก ขณะที่ผลกระทบจากการหดตัวและล่มสลายทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวยังถือเป็นเรื่องใหญ่ การทำธุรกรรมและสภาพคล่องในระบบไม่อาจกลับมาเป็นปกติ ปัญหากับดักหนี้ทั้งธุรกิจรายใหญ่ รายย่อย คนตกงานเพิ่มขึ้นจากหลักแสนเป็นล้าน การพึ่งพิงการส่งออก การพึ่งพิงการท่องเที่ยวที่เป็นสัดส่วนหลักของจีดีพีประเทศไม่อาจทำได้ แนวทางแก้ปัญหาที่ต้องปรับเปลี่ยนมากระบวนทัศน์มาเน้นความเข้มแข็งของการแบบพึ่งพาตนเองตั้งแต่ระดับฐานราก จนถึงความมั่นคงของโลกาภิวัตน์แบบภูมิภาค สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องของรัฐบาลและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้มีผลงานบริหารจัดการวิกฤติโควิดในประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดดับ 1 ของประเทศที่ฟื้นตัวดีที่สุดในโลก
2. ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม กับกลุ่มบุคคลทุกอายุ ทุกกลุ่มที่เสนอการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์อันไม่ชอบด้วยหลักการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งแกนนำ ผู้ปราศรัย กลุ่มอาจารย์ กลุ่มการเมือง เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและการใช้เสรีภาพที่ไม่ก้าวล่วงขอบเขตใด ๆ ตามอำเภอใจ
3.ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยปราศจากฉันทามติของประชาชนที่ลงประชามติไปแล้ว เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยมากที่สุด ด้วยเหตุผลคือระบบ ไพรมารี (primary vote) ในการเลือก ส.ส.เขตจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยในพื้นที่ สลายวัฒนธรรมผูกขาดของพรรคการเมืองเดิมและ ส.ส.เดิมที่มีอิทธิพลในพื้นที่ที่สืบอำนาจจากผัวสู่เมีย จากพ่อสู่ลูก เพราะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครใหม่ที่ทำงานในพื้นที่สามารถเสนอตัวเป็นคู่แข่ง ซึ่งในแต่ละเขต ผู้สมัคร 5-6 คนจากพรรคต้องทำงาน "หาเสียง" จริงอย่างต่อเนื่องตลอดปีไม่ใช่หวังมา "ซื้อเสียง" ตอนเลือกตั้ง และทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระบบ primary vote ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะกระจายอำนาจสู่สมาชิกพรรคทุกคนเพื่อร่วมเสนอชื่อและลงคะแนนเลือก ซึ่งเป็นการลดอำนาจรวมศูนย์ของเจ้าของพรรค นายทุนพรรค และผู้บริหารพรรคการเมือง
สอดรับกับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะลดทอนอำนาจของระบบธนกิจการเมืองของนายทุนเลือกตั้ง นักเลือกตั้งอาชีพของพรรคการเมืองใหญ่ โดยทำให้พรรคเล็กที่มีอุดมการณ์ ความรู้ ความมุ่งมั่นเสนอตัวเป็นตัวเลือกที่มีโอกาสชนะได้ อีกทั้งยังเป็นการคัดกรองให้พรรคการเมืองเฟ้นหาตัวผู้สมัครด้วยอุดมการณ์ที่ตรงกัน ไม่ใช่ระบบมุ้ง ระบบสายที่พรรคไปทาง คนไปทาง รวมถึงทำให้พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญกับทุกเขตเลือกตั้งทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะเขตที่เป็นฐานเสียงเดิมของตนเท่านั้น