'ฝ่ายค้าน' ยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไป เร่งถกแก้ปม ‘เศรษฐกิจ-การเมือง’
“ฝ่ายค้าน” ยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ ตาม รธน. มาตรา 152 เร่งถกแก้ปมเศรษฐกิจและการเมือง
เมื่อวันที่ 20 ส.ค.63 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน อาทิ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจ และวิกฤตทางการเมือง โดยไม่มีการลงมติ ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นญัตติดังกล่าวมีเหตุผลในสาระสำคัญ เพราะเป็นห่วงต่อสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ทั้งที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทุกด้าน ทั้ง การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายนประเทศ และการลงทุน ขณะที่ความพยายามกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เป็นไปตามประมาณการ นอกจากนั้น ยังพบปัญหาทางการเมือง การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน
“ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมนั้น รัฐบาลกลับฉวยโอกาสใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคามและจับกุมแกนนำผู้ชุมนุม ทำให้ความสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมากอยู่แล้วต้องตึงเครียดเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านจึงยื่นญัตติดังกล่าวเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ” ญัตติของพรรคฝ่ายค้านระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา152 โดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะรัฐบาลใน 2 เรื่องคือ 1.วิกฤติเศรษฐกิจ และ2.วิกฤติการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ประเทศขณะนี้ เกิดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรง เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีกในทุกด้าน ฐานะการคลังของรัฐเปราะบาง มีการกู้เงินสูงมาก ทำให้หนี้สาธารณะสูงถึง 58 เปอร์เซ็นต์ เกือบชนกรอบเพดานการคลัง รวมทั้งเรื่องที่ประชาชนเห็นถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลในการเข้าสู้อำนาจ จนเป็นเหตุของการชุมนุมในวันนี้ด้วย
ด้านนายชวน กล่าวว่า หลังจากรับญัตติจากพรรคเพื่อไทย จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ทั้งนี้ ขณะนี้มีเรื่องเตรียมรับอยู่หลายเรื่อง โดยในวันที่ 1 ก.ย.จะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 นั้น กำลังพิจารณาหาวันอยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา หรืออาจจะหลังจากประชุมร่วมรัฐสภา โดยต้องรอหารือกับรัฐบาลก่อน นอกจากนี้ ตนยังตั้งใจว่า ในวันที่ 18 ก.ย. จะเป็นการประชุมนัดพิเศษเพื่อสะสางญัตติที่ค้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ด้วย
ขณะที่นายสุทิน กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนว่า การที่รัฐบาลจะต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปนั้นคงไม่ใช่เหตุผลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 คงจะเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่า ซึ่งผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นคือ จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศ ตรงนี้เป็นอีกเหตุผลที่เราต้องยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติครั้งนี้ เพราะการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปนั้น ผู้ชุมนุมอาจมองเจตนารัฐบาลคนละอย่างก็ได้ อาจจะเป็นมูลเหตุที่ไม่เป็นผลดี อาจจะทำให้สถานการณ์ร้อนแรงขึ้นก็ได้ ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะในเมื่อทั่วโลกชื่นชมการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต่ออายุพ.ร.ก.ออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราแนะนำรัฐบาลว่า นายกฯ ควรลงพื้นที่ไปรับฟังเหตุผล จับเข่าคุยข้อเรียกร้องจากนักศึกษา แต่นายกฯ ไม่เคยทำ จึงเกรงว่าเมื่อไปถึงจุดหนึ่ง ถึงอยากจะคุย แต่อาจจะถึงจุดที่คุยกันไม่ได้แล้วก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติครั้งนี้มีเพียงเสียงจากพรรคเพื่อไทยที่ลงชื่อเท่านั้น นายสุทินกล่าวว่า เราเห็นสัญญาณหลายตัว จึงคิดกันเร็ว และมีมติพรรคออกมาเลย ซึ่งเรามองว่าไม่สามารถรอกันได้ แต่วันนี้ได้แจ้งพรรคร่วมฝ่ายค้านให้รับทราบแล้วว่า เพื่อเป็นความคล่องตัว เมื่อเสียงของพรรคเพื่อไทยครบอยู่แล้วจึงยื่นไปก่อน อย่างไรก็ตาม จากวันนี้จนถึงวันปิดสมัยประชุมสภาฯนั้น เมื่อลองนับดูแล้วมีวันประชุมได้ประมาณ 10 วัน แบ่งให้การอภิปรายงบประมาณ 3 วัน อภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 วัน ก็ยังเหลืออีก 5 วัน เราขอเวลาเพียง 2 วันเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติก็เพียงพอแล้ว ทุกอย่างก็จะลงล็อกหมด
โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย กล่าวว่า สำหรับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นการเข้าชื่อกันของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพียงพรรคเดียว โดยไม่มีตัวแทน ส.ส.จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านอื่นร่วมลงชื่อด้วย หลังรับญัตติแล้วจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของญัตติที่จะซักถามรัฐบาล และเสนอแนะคณะรัฐมนตรี และจะหารือถึงกรอบเวลาที่เหมาะสมเพื่อเปิดอภิปรายต่อไป โดยคาดว่าหากรัฐบาลสะดวกอาจจะเปิดหารือในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้
นอกจากนี้ นายชวน ยังกล่าวว่า ในวันที่ 1 กันยายนนี้ จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการหารือกับฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสมต่อไป เพราะยังจะต้องมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่สภาผู้แทนราษฎร รอพิจารณาในวาระ 2-3 ด้วย