‘แม่โขง-ล้านช้างซัมมิต’ ดันสินค้าเกษตรออนไลน์ สู้โควิด

‘แม่โขง-ล้านช้างซัมมิต’ ดันสินค้าเกษตรออนไลน์ สู้โควิด

ทำความรู้จัก "แม่โขง-ล้านช้างซัมมิต" เวทีที่ไทยจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือส่งเสริมการค้าออนไลน์ เพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตร และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพ เป็นสร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (เอ็มแอลซี) ที่ประกอบด้วยไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ซึ่งในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (3rd Mekong-Lancang Cooperation Leaders’ Meeting) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ส.ค. ถือเป็นการเจอกันครั้งแรกของผู้นำ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด และจะเป็นโอกาสที่ไทยชูแนวคิดฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค

เชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 3 จะเป็นเวทีสำคัญที่ไทยผลักดันความร่วมมือส่งเสริมการค้าออนไลน์ เพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตร และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพ เป็นสร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกเอ็มแอลซี โดยมี ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของลาว และ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานร่วม ภายใต้หัวข้อ การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน แสดงให้เห็น​ถึงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบเอ็มแอลซี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัส

159802733385
- เชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ -

"พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวถ้อยแถลงโดยชูประเด็นสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน การส่งเสริมการค้าออนไลน์ การเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตร และการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้การดำรงชีวิตของประชาชนกลับมาเป็นปกติ และสามารถไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก" เชิดเกียรติระบุ

ไฮไลต์การประชุมครั้งนี้จะเน้นเรื่องสาธารณสุข โดยเฉพาะความร่วมมือของไทยกับจีน และประเทศกลุ่มเอ็มแอลซีที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แต่จะร่วมพัฒนาวัคซีนในโรคอื่นๆ เพื่อดูแลสุขอนามัยและและให้ทุกคนเข้าถึงได้ โดยที่ไม่มองเป็นเรื่องธุรกิจ

159802731234

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเน้นย้ำการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง โดยเตรียมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมประกอบด้วยรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำแต่ละประเทศ เพื่อทำให้ทุกประเทศได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกันอย่างเป็นธรรม

ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศกลุ่มความร่วมมือเอ็มแอลซีจัดอยู่ในเกณฑ์ว่าสามารถรับมือการระบาดได้ ขณะเดียวกันจีนเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลก ที่มีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนหลายตัวที่อยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิก  

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ยังมีผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าร่วม เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน (Joint Working Group on Cross-Border Economic Cooperation: JWG-CBEC) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน เช่น การติดตามเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน การตรวจสอบและกำกับสถาบันการเงิน 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงด้านการชำระเงิน เพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ซึ่งเป็นตามแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตั้งใจให้ร่วมมือกับประเทศสมาชิกในระดับทวิภาคี

ก่อนหน้านี้ หลู่ย์ เจี้ยน ครั้งที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ที่มุ่งยึดถือความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจีนยินดีให้ความร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ปัจจุบันยังมีหลายพื้นที่ในกลุ่มประเทศความร่วมมือเอ็มแอลซีต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพื่อดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมโรคระบาดข้ามชาติ อันนำไปสู่ความร่วมมือด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ เดือน ธ.ค. 2562 กลุ่มความร่วมมือเอ็มแอลซี ยังจัดตั้งกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation Special Fund) เมื่อครั้งการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 1 โดยผู้นำจีนได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก 6 ประเทศ คือ จีน ลาว เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และไทย จำนวน 300 ล้านดอลลาร์ 

อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้มีขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการเร่งด่วน มุ่งขับเคลื่อนโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ จากกองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง นั่นหมายถึงโครงการร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจกลุ่มสมาชิกเอ็มแอลซี ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิดด้วย