'นิด้าโพล' ชี้ คนไทยกังวลม็อบ 'ประชาชนปลดแอก' เกือบครึ่งแนะนายกฯฟังผู้ประท้วง
"นิด้าโพล" ชี้ คนไทยเกือบครึ่งแนะนายกฯประยุทธ์ รับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" ขณะที่ส่วนใหญ่หวั่นการชุมนุมบานปลายรุนแรงในสังคม
วันที่ 23 ส.ค. 63 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ม็อบกลุ่มประชาชนปลดแอก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18–20 สิงหาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และวันที่ 16 ส.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงความกังวลว่าจะเกิดการบานปลายกลายเป็นความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมจากการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก พบว่า ร้อยละ 26.37 ระบุว่า กังวลมาก เพราะ เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นและอาจจะมีมือที่ 3 เข้ามาแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมา และอยากให้เลื่อนการชุมนุมออกไปก่อนจนกว่าการแพร่ระบาดโควิด–19 จะหมดไป 100% ร้อยละ 34.76 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะ เกรงว่าจะมีการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงระหว่างกลุ่มคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกลูกหลง ได้รับบาดเจ็บ
ขณะที่ร้อยละ 14.18 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับทราบถึงเหตุผลในการชุมนุมเท่านั้น และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ เป็นเหตุการณ์ปกติของการเมืองไทยที่มีมาตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสิทธิในการแสดงเหตุผลของกลุ่มประชาชนปลดแอก และเป็นการชุมนุมอย่างสงบ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำเนินการกับการชุมนุม พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.27 ระบุว่า ควรรับฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยตนเอง รองลงมา ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ควรยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ทันที ร้อยละ 11.43 ระบุว่า ควรประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ควรใช้กลไกรัฐสภาในการฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ร้อยละ 9.07 ระบุว่า ควรประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 8.54 ระบุว่า ควรใช้กลไกราชการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ร้อยละ 6.17 ระบุว่า ควรอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร ร้อยละ 4.50 ระบุว่า ควรใช้กฎหมายดำเนินการกับผู้กระทำผิด และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ