'พีเน็ต' หนุน ‘นักเรียน นักศึกษา ประชาชน’ ร่วมเรียกแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย "พีเน็ต" ออกแถลงการณ์ สนับสนุนข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคมต่าง ๆ ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ออกใบแถลง 4/2563 “แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ระบุว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ถูกกำหนดและบังคับใช้มาอย่างล้มเหลว ไม่สามารถตอบสนองและแก้ปัญหาให้กับประชาชนและสังคม ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาการเลือกปฏิบัติ ได้ส่งผลอย่างรุนแรงและก่อความไม่สงบสุขให้กับสังคม
ทั้งนี้ ด้วยกลไกในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในส่วนการได้มาและกระบวนการเข้าสู่อำนาจของผู้บริหารประเทศ ในหมวด รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ อัยการ การปกครองส่วนท้องถิ่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะบทเฉพาะกาล ไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการรื้อสร้างและออกแบบใหม่หมด เพื่อให้กติกาอันเป็นแม่บทของประเทศเอื้อต่อการแก้ปัญหาของประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคมต่าง ๆ ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการ
1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในจังหวัดต่างๆที่มาจากหลากหลายอาชีพ (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามาตรา 11 มี 20 กลุ่ม) ด้วยการเลือกกันเองของผู้สมัครในแต่ละกลุ่ม จำนวน 500 คน โดย สสร. อาจแต่งตั้งคณะกรรมาธิการหรือคณะทำงานจากคนนอกมาช่วยร่างรัฐธรรมนูญด้วยก็ได้ ร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ และให้มีผลทันทีเมื่อผ่านประชามติแล้ว
2. ยกเลิกมาตรา 269 - 272 ในบทเฉพาะกาลว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภาและแก้ไขให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงไปพร้อมการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยมิให้นำความตามมาตรา 103-105 มาใช้บังคับ
3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และการยกเลิกมาตรา 269 – 272 โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 156 (15) ควรพิจารณาในคราวเดียว ในวาระที่ 1 และ 2
4. ให้ กกต. ดำเนินการให้มีการลงประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อย่างเสรีโดยเร็ว และเมื่อผ่านการลงประชามติแล้ว ให้ กกต. ดำเนินการให้ได้มาซึ่ง สสร. โดยทำหน้าที่เปิดรับสมัครและอำนวยการให้มีการเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
5. ในคราวที่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีการยุบรัฐสภา เพื่อรอให้มีรัฐสภาชุดใหม่มาทำหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้มีรัฐบาลรักษาการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างอิสระ ปราศจากการแทรกแซงใด ๆ