รุมต้าน ซื้อ 'เรือดำน้ำ' เติมไฟการเมือง
ประมวลเสียงต้าน/เตือนจากคนการเมือง ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ปมผ่านงบฯซื้อเรือดำน้ำ รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 แต่ละฝ่ายคิดเห็นอย่างไรและเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทบทวนหรือไม่
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีคณะอนุกรรมาธิการคุรุภัณฑ์ รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ผ่านงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท
แม้มตินี้ยังเป็นเพียงชั้นคณะอนุกรรมาธิการที่ยังไม่มีผลอะไร แต่เงื่อนไขนี้ก็อาจเป็นการเติม "ไฟการเมือง" ที่กำลังคุกรุ่นอยู่แล้วให้เดือดยิ่งขึ้น เพราะมาในช่วงที่ประเทศเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและธุรกิจทุกหย่อมหญ้า
- ประธานกมธ.ผ่านงบเรือดำน้ำ "เสียงอ่อน"
แม้กระทั่ง "นายสุพล ฟองงาม" ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนั่งเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการคุรุภัณฑ์ รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ต้นตอของกระแสวิจารณ์รุนแรงนี้ ล่าสุดยอมรับว่า ทราบดีว่าการลงมติเห็นชอบการจัดซื้อ "เรือดำน้ำ" ครั้งนี้จะถูกโยงไปเติมเชื้อสถานการณ์การเมืองให้แรงยิ่งขึ้น ต้องถูกยำแน่ ถึงจะอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อว่า เป็นการดำเนินการตามงบผูกพันที่ต้องเตรียมการจัดซื้อไว้แต่เนิ่น ๆ กว่าจะจัดซื้อและได้เรือดำน้ำมาต้องใช้เวลาอีกหลายปี อีกทั้งยังเป็นการผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ไม่ได้จ่ายครั้งเดียว แต่ประชาชนคงไม่รับฟัง ดูแล้วน่าห่วงต่อสถานการณ์การเมือง
ดังนั้น ในการประชุมกมธ.งบประมาณฯ วันที่ 26 ส.ค.นี้ นายสุพลจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาชั่งน้ำหนักให้ดีถึงความขัดแย้งในประเทศที่จะตามมา ถ้ามีการซื้อเรือดำน้ำ กับความเสียหายที่ได้รับจากการเลื่อนซื้อเรือดำน้ำ อะไรจะเกิดผลกระทบมากกว่ากัน
"ถ้าเป็นไปได้อยากให้ที่ประชุมกมธ.ทบทวนการจัดซื้อ เพราะถ้าทำให้สถานการณ์การเมืองรุนแรงขึ้น ควรเลื่อนการจัดซื้อไปก่อน อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะมติของอนุกมธ.ยังไม่ใช่มติชี้ขาด กมธ.ชุดใหญ่สามารถทบทวนได้"
นายสุพล กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การชุมนุมถือว่าถูกจุดติดแล้ว จะชี้แจงยังไง ประชาชนคงไม่ฟัง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่พอใจรัฐบาล ภาวนาให้กมธ.งบฯ ทบทวนเรื่องนี้
- ปชป.แนะใช้งบแก้ปัญหาปากท้อง
ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณีผ่านงบซื้อเรือดำน้ำว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินจำนวนมากไปซื้อเรือดำน้ำ ในขณะที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาเรื่องโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนจำนวนมาก
"เราควรยอมรับความจริงว่าขณะนี้เศรษฐกิจฝืดเคือง คนหาเช้ากินค่ำมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ชักหน้าไม่ถึงหลัง คนจำนวนมากวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่สถานการณ์โควิด-19 ยังต้องอยู่กับเราไปอย่างไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะคลี่คลายเมื่อไร"
นายองอาจชี้ว่า ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีวัคซีนใช้ได้เมื่อไร รวมถึงอาจมีโควิด-19 ระบาดรอบสอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนมากขึ้นไปอีก การใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ของภาครัฐ จึงควรใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคมที่ไม่ปกติอยู่ในปัจจุบัน
"แม้กองทัพเรือจะอ้างว่าการมีเรือดำน้ำเป็นความจำเป็นทางด้านความมั่นคง แต่ในขณะที่บ้านเมืองยังมีปัญหาโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม ซ้ำเติมประเทศชาติและประชาชนอยู่แบบนี้ ควรนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจะดีกว่า จนกว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติค่อยพิจารณากันใหม่ได้"
ส่วนความกังวลที่ว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนนั้น นายองอาจกล่าวว่า ไม่น่าจะกังวลแต่อย่างใด เพราะจีนก็ทราบดีว่าไทยได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 อย่างไร จีนน่าจะเข้าใจและเห็นใจประเทศไทยมากกว่า
"ขอเรียกร้องให้ทบทวนชะลอการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทออกไปก่อน เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอย่างมากอยู่ขณะนี้" นายองอาจ ระบุ
- "กรณ์" ชี้ ซื้อเรือดำน้ำ "ไม่จำเป็น"
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Korn Chatikavanij เขียนถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ของรัฐบาลว่า ในวันที่ชาติเจอวิกฤติเศรษฐกิจ.."เรือดำน้ำ" คือ สิ่งที่ไม่จำเป็น! ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้.. งบประมาณต้องเน้นแก้ปัญหาเรื่อง 'ปากท้อง' วิกฤติเศรษฐกิจคราวนี้หนักมาก ปีต่อปีเทียบกันไตรมาสสอง GDP ติดลบถึง 12.2% วัคซีนโควิดยังไม่มา นักท่องเที่ยวไม่มี ธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กอีก 3 เดือนไม่รู้จะอยู่กันอย่างไร
“ผมเข้าใจดีในเหตุผลและความจำเป็นด้านความมั่นคง แต่วินาทีนี้รัฐต้องใช้เงินกองใหญ่ในหน้าตักช่วยคนเดือดร้อนที่สุดเรื่องปากท้องก่อน ธุรกิจขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากกำลังรอความช่วยเหลือชุดต่อไปจากรัฐ งบเรือดำน้ำที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ หากเอามาช่วยผู้ประกอบการพยุงเงินหมุนให้รอดตาย รายละแสนบาท จะช่วยได้ถึง 2 แสนกว่าราย การอนุมัติซื้อเรือดำน้ำในวันที่ชาติกำลังอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง”
นายกรณ์ ระบุว่า นาทีนี้ต้องคิดให้หนัก เมื่อคืนมีรุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ส่งข้อความมาชวนคิดว่า งบเรือดำน้ำนี้สามารถส่งเด็กไทยไปเรียน "มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านวิศวกรรม และ นวัตกรรม" ได้ 22,500 คน รวมค่ากินอยู่จนจบปริญญา ลองคิดดูครับว่า หากเด็กไทยของเรา ได้มีโอกาสเรียนด้านนวัตกรรมขั้นสูง จนสามารถกลับมาช่วยชาติได้ 2 หมื่นกว่าคน จะสามารถเปลี่ยนประเทศได้ขนาดไหน โดยเฉพาะหากเด็กๆ กลุ่มนี้ได้ไปเรียนวิศวกรรมด้านการสร้างเรือดำน้ำ ดีไม่ดีกลับมาสร้างเรือดำน้ำของไทยเราส่งออกเองได้อีกด้วย
“การใช้งบประมาณเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดว่า.. แต่ละรัฐบาลให้ความสําคัญกับอะไร ทุกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการซื้อเรือดำน้ำต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสังคมโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ประชาธิปัตย์ที่ผมเคยอยู่ เราเคยปฏิเสธการซื้อเรือดำน้ำมาแล้ว ในเวลานั้นเศรษฐกิจยังไม่แย่เท่านี้... วันนี้เพื่อนๆ คิดกันดีๆ นะครับ”
ส่วนการลงคะแนนผ่านงบซื้อเรือดำน้ำที่เป็นข่าวนั้น สังคมต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงในระบบการทำงบประมาณว่า ยังเป็นเพียงการลงคะแนนในชั้นอนุกรรมาธิการเท่านั้น ยังไม่มีการอนุมัติขั้นสุดท้าย อำนาจจริงอยู่ที่กรรมาธิการชุดใหญ่ วัดใจกันครับ... ส.ส.จะอนุมัติเงินงบประมาณในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้ไปในทิศทางไหน ทุกพรรคควรอธิบายตรรกะการตัดสินใจให้สังคมเข้าใจด้วยว่า อะไรในตอนนี้คือ 'สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับประชาชน'
- "ธนาธร" จี้รัฐนำงบเรือดำน้ำ มาฟื้นฟูประเทศแทน
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดเผยถึงกรณีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ ขณะลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนที่ตลาด 100 เสา ต.เพ อ.เมือง จ. ระยองว่า จากการลงพื้นที่พบว่า การประมงพาณิชย์ของบ้านของบ้านเพกำลังล่มสลาย โดยเฉพาะการนำเเรงงานต่างด้าวเข้ามาทำการประมงที่ยากลำบาก และแพงมาก ทำให้หลายคนต้องทิ้งเรือประมง
ดังนั้น ถ้าถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำอย่างไร ก็ในเมื่อภายใต้ภาวะที่ประชาชนลำบากขนาดนี้ งบประมาณที่จะซื้อเรือดำน้ำ ควรจะเอามาเยียวยาประชาชน เพราะอย่างน้อยถ้าเขาหมดขวัญและกำลังใจที่จะประกอบอาชีพต่อไป ก็ควรมีกองทุนให้เขาสักก้อนหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนทักษะและลงทุนในอาชีพใหม่ แต่ทุกวันนี้ทุกคนมีแต่หนี้สินเพิ่มขึ้น เรือต้องจอดทิ้ง แต่ต้องมีค่าบำรุงรักษา ค่าระบบติดตามเรือ (VMS) ที่ต้องจ่ายทุกเดือนแม้ไม่ได้ออกหาปลา ทำให้พวกเขาสิ้นหวัง และจะเห็นว่างบประมาณของประเทศที่มีอยู่จำกัดในปีนี้จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องซื้อเรือดำน้ำ ดังนั้น ถ้าช้าไปอีก 1 ปี แล้วค่อยมาพูดคุยกันถึงมาพูดกันเรื่องซื้อเรือดำน้ำก็ได้
นายธนาธร ระบุว่า อย่างน้อยงบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาทที่ต้องจ่ายงงดแรกในปี 64 ควรจะถูกนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เพราะถ้านำมาลงทุน เยียวยา ฟื้นฟู ประชาชนที่ลำบากก็จะเกิดการหมุนเวียนภายในประเทศ จึงยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่ตะให้มีการซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และลำที่ 3 ในปีนี้ ซึ่งตนเองและพรรคก้าวไกลได้แสดงจุดยืนชัดไปแล้วในชั้นอนุกรรมาธิการ