เปิดห้อง กมธ. 'สุพล-ยุทธพงศ์' โต้เดือดปมเรือดำน้ำ

เปิดห้อง กมธ. 'สุพล-ยุทธพงศ์' โต้เดือดปมเรือดำน้ำ

ประเด็นร้อนในคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 สภาผู้แทนราษฎร

เมื่อ 21 ส.ค.2563 ผ่านมติเฉียดฉิว 5-4 เห็นชอบงบประมาณของกองทัพเรือในรายการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ จากจีน วงเงิน 22,500 ล้านบาท หลังอนุกรรมาธิการออกเสียงเท่ากัน แต่ประธานคณะอนุกรรมาธิการจากพรรคพลังประชารัฐ สุพล ฟองงาม ออกเสียงเห็นชอบ

 ล่าสุด ในการประชุม กมธ.ครุภัณฑ์ฯ วานนี้ 26 ส.ค.2563 กลายเป็นเวทีการตอบโต้ระหว่าง กมธ.ขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน หลังจากฝ่ายหลังเปิดเผยถึงมติ อนุกมธ.ที่มีเสียงเท่ากัน 4-4 แต่ประธานอนุกมธ.ได้ลงมติตัดสินใจให้ผ่านงบฯดังกล่าว พร้อมทั้งอ้างว่ามี “นายพล ป.” ล็อบบี้เรื่องนี้ 

ทันทีที่การประชุมเริ่มขึ้น นายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานอนุกมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เปิดฉากเคลียร์ประเด็นที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม อนุ กมธ.จากพรรคเพื่อไทย กล่าวหา

โดยนายสุพล กล่าวต่อประชุมว่า เมื่อสักครู่ตนได้ฟังนายยุทธพงศ์ ให้สัมภาษณ์แล้ว ยืนยันว่า ไม่มีมติใดๆ เป็นความเห็นของที่ประชุม ที่มีความเห็นให้แขวนเพื่อให้กลับมาชี้แจงใหม่ แล้วนำเอกสารที่ที่ประชุมขอมาประกอบความคิดเห็น 

 

 

ขณะที่นายยุทธพงศ์ ได้ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก ทางกองทัพเรือได้เข้ามาชี้แจง โดยมีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ มูลค่า 2.25 หมื่นล้านบาท และในที่ประชุมไม่มีอนุกมธ.คนใดเห็นด้วยกับกองทัพเรือในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งทุกคนขอให้เลื่อนออกไปก่อน เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังขาดแคลนงบประมาณ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเร่งรีบ เพราะเรือลำแรกที่จัดซื้อไปแล้ว ปี 2567 ถึงจะได้เรือดำน้ำเข้าประจำการ แต่กองทัพเรือ ยืนยันที่จะต้องซื้อให้ได้ เพราะเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มีข้อตกลงร่วมกัน ถ้าไม่ซื้อก็จะเสียความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจจะมีการฟ้องร้องได้ เพราะมีสัญญาร่วมกันอยู่ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำรายละเอียดกลับมาใหม่ จึงเป็นที่มาของการแขวนเรื่องนี้ไว้ในการประชุมครั้งแรก 

"และเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา ทางกองทัพเรือนำสัญญาให้อนุ กมธ.ดู ปรากฏว่า ไม่มีข้อผูกพันใด ๆ ว่า ถ้าซื้อลำแรกแล้ว จะต้องซื้อลำที่ 2-3 ดังนั้น ลำที่ 2 ลำที่ 3 จึงเป็นเรื่องใหม่ นายยุทธพงศ์ ระบุ

จากนั้น บรรยากาศยังตึงเครียด โดยนายสุพล ระบุว่า วันที่ 17 ส.ค.2563 ความจริงที่ประชุมไม่ได้มีมติ เป็นเพียงความเห็นของที่ประชุม ผมจะให้ฝ่ายเลขานุการยืนยัน โดยจะนำบันทึกการประชุมมาดูว่า ไม่ได้มีมติใดๆ อยากถามว่า ในความเห็นของนายยุทธพงศ์ มติคืออะไร” ทำให้นายยุทธพงศ์ สวนกลับทันทีว่า “เรื่องบางเรื่องผมยอมได้ แต่เรื่องนี้มันคือศักดิ์ศรี ท่านก็เคยเป็นถึงรัฐมนตรี ผมก็เคยเป็นเหมือนกัน ดังนั้นขอให้นำชวเลขและบันทึกเทปการประชุมทั้งหมดมาเปิดเผย”

ขณะที่นายสุพล ถามแทรกต่อว่า มติคืออะไร เพราะไม่ได้มีการลงคะแนน นายยุทธ์พงศ์ จึงโต้กลับว่า "ถ้าไม่มีคนค้าน ก็ไม่มีการลงคะแนน ก็ถือเป็นมติ ไม่เช่นนั้นจะไปแขวนเรื่องนี้ได้อย่างไร ขอท้าในฐานะเป็นอนุ กมธ. ขอบันทึกการประชุมเป็นทางการ แล้วเอามาแฉเลยว่า วันที่ 17 ส.ค. อนุ กมธ.คนใดพูดอะไรไว้บ้าง เอามาเปิดเป็นรายคนไปเลยว่า มีอะไรทำให้คนเราเปลี่ยน ใครรักชาติ รักประชาชน หรือใครรักเรือดำน้ำจีน ผมพร้อมสู้ ผมยอมตาย เรื่องดำน้ำจีนผมยอมไม่ได้ ประชาชนอดอยากแค่ไหน และผมไม่มีวันก้มหัวให้เผด็จการ” นายยุทธพงศ์ กล่าว

ต่อมา นายสุพล ได้ถามนายยุทธพงศ์ ถึงการเปิดชื่อ นายพล.ป.ที่โทรศัพท์มาสั่ง ขณะลงมติว่า เอาที่ไหนมาพูด แต่นายยุทธพงศ์ เลี่ยงที่จะตอบคำถามเรื่อง นายพล.ป โดยย้ำให้นายสุพล นำบันทึกการประชุมออกมาเปิดเผย ซึ่งนายสุพล บอกว่า ไม่มีปัญหา พร้อมกับถามย้ำอีกว่า เรื่องนายพล.ป.เอาที่ไหนมาพูด แต่นายยุทธพงศ์ สวนว่า นายสุพลต้องฟังให้จบ จะนำไปสู่การล็อบบี้หรือไม่ล็อบบี้ 

นายสุพล จึงชี้แจงว่า “อนุ กมธ.มีความเป็นห่วงว่า เรื่องนี้นำไปสู่การเมือง ไปปั่นกระแสการเมือง ทุกคนให้ความเห็นว่า กองทัพเรือเลื่อนได้หรือไม่ ซึ่งกองทัพเรือมีเหตุผลที่เลื่อนไม่ได้ เพราะเป็นงบผูกพันมาตั้งแต่ปี 2563 แต่เมื่อฟังรอบที่สอง เขาก็มีเหตุผล จึงเป็นสิทธิอนุ กมธ.จะตัดสินใจ นายยุทธพงศ์ไม่มีสิทธิที่จะบอกว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.เห็นอย่างหนึ่ง แล้วอีกวันเห็นอีกอย่างหนึ่ง” 

“นายยุทธพงศ์ไม่ควรก้าวล่วงว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับนายยุทธพงศ์ คือคนไม่รักชาติ แต่ทุกคนมีเหตุผล เพราะเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เราจะมีกองทัพไว้ทำไม บ้านก็ต้องมีกำแพง กองทัพก็ต้องการขีดความสามารถ ยืนยันว่า อำนาจในการตัดสินอยู่ที่ กมธ.งบประมาณฯ คณะใหญ่ แต่ผมติดใจนายพล ป.ว่า คือใคร ที่นายยุทธพงศ์บอกว่าโทรมาหาผมก่อนที่จะตัดสินใจ”

ด้านนายยุทธ์พงศ์ กล่าวสวนว่า เมื่อลงมติเสมอกัน 4 ต่อ 4 ผมได้ขอร้อง 2 ครั้งว่า ไม่ให้ลงมติ เพราะต้องเป็นกลาง ให้ส่งไปให้ กมธ.งบประมาณฯ คณะใหญ่เลย ซึ่งผมรู้ว่าประธานก็อึดอัดใจในการลงมติ” ทำให้นายสุพล ยอมรับว่า ผมอึดอัดจริง แต่เมื่อคะแนนเสมอกัน 4 ต่อ 4 ก็ได้ถามว่า ข้อบังคับฯเขียนอย่างไร ซึ่งฝ่ายเลขาฯระบุว่า ประธานต้องชี้ขาด ผมจำเป็นต้องทำตามหน้าที่ตามข้อบังคับ

ผมยอมรับว่า อยู่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ เป็นฝ่ายรัฐบาล และจากการฟังคำชี้้แจงของกองทัพเรือก็ฟังขึ้น จึงเป็นสิทธิ์ของพวกผมที่จะลงมติ และเป็นเพียงแค่ชั้นอนุ กมธ. คนตัดสินคือ กมธ.งบประมาณฯ คณะใหญ่ ทบทวน แล้วในวาระ 2 และ 3 ในที่ประชุมสภา ก็ยังมีสิทธิตัดได้ ที่สำคัญอยู่ที่รัฐบาลด้วย ถ้ารัฐบาลเห็นว่าสถานการณ์ไม่เหมาะสม เรื่องนี้จะไปเติมไฟเต็มบ้านเต็มเมือง สร้างความวุ่นวายอาจจะถอยก็ได้ ผมไมได้ห่วงอนาคตตัวเอง ผมห่วงอนาคตบ้านเมือง เราจะอยู่กันแบบไร้เหตุไรผล ไม่ฟังอะไรเลยหรือ กองทัพเรือเขามีเหตุผล ไม่ใช่ไปปั่นกระแสทุกเรื่องเป็นเรื่องการเมืองทั้งหมด แล้วเราจะอยู่กันอย่างนี้หรือ” นายสุพล กล่าว

จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ถามย้ำนายยุทธพงศ์ว่า คนที่บอกว่า นายพล.ป.โทรศัพท์มาล็อบบี้เป็นใคร นายยุทธ์พงศ์ ได้แต่หัวเราะ โดบระบุว่า “อย่าให้บอกเลย” ก่อนที่นายสุพล จะตัดบทให้จบทันที เพราะไม่อยากให้แตกแยกไปมากกว่านี้จนทำด้วยกันไม่ได้ ถึงอย่างไรเราก็ต้องทำงานด้วยกันต่อไป ก่อนเชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม