รมช.พาณิชย์ จี้เอกชนเร่งปรับตัวรับการค้ายุค NEW NORMAL
รมช.พาณิชย์ จี้เอกชนเร่งปรับตัวรับการค้ายุค NEW NORMAL พร้อมดึงกูรูแนะรูปแบบธุรกิจในอนาคต เผย "โควิด-19" จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ทิศทางและแนวโน้มตลาดเมียนมา...จากเหตุการณ์ COVID-19” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี โดยนายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อปรับตัวเพื่อก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงภาครัฐ โดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตและการทำงาน จากวิถีเดิมไปสู่วิถีการดำรงชีวิตใหม่ หรือ NEW NORMAL
โดยทุกฝ่ายควรจะต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้อย่างลึกซึ้ง และร่วมมือปรับตัวไปด้วยกัน กล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่การเดินทางระหว่างประเทศของผู้คนทั่วโลกจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวอาจก่อให้เกิด กระแสความนิยมการบริโภคอุปโภคสินค้าและบริการท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวหาแหล่งวัตถุดิบ หรือฐานการผลิตให้มีระยะทางที่ใกล้กับผู้บริโภคมากที่สุดเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการค้า โดยปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจจำเป็นต้องมีคือ “ภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยง” หรือความสามารถที่จะยืดหยุ่น เรียนรู้ และปรับตัวต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องทำได้ดีกว่า เหนือกว่าคู่แข่ง เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว และในอนาคต ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม และมีการบริหารจัดการที่โปร่งใสเป็นธรรม
ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ใหม่ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ของโลกในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไร้การสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ด้าน ได้แก่ การค้าออนไลน์ การแพทย์ออนไลน์ และระบบอัตโนมัติต่างๆ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าแนวโน้มรูปแบบธุรกิจในอนาคต คือ การลดการติดต่อสัมผัสระหว่างผู้คนให้น้อยที่สุด โดยแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ในเรื่องความสะอาด สุขอนามัยของสินค้าสำคัญมาก ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะใช้ระบบเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อลดการติดต่อสัมผัสทางกายภาพ อาทิ การขาย ไลฟ์-สตรีมมิ่ง การชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด ไม่ใช้การรูดบัตร ไม่ต้องมีการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน ฯลฯ
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการแทรกแซงทางเศรษฐกิจในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐบาลทั่วโลกได้เร่งประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแผนดังกล่าวโดยส่วนใหญ่จะเน้นการดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ การช่วยเหลือประชาชนในความต้องการขั้นพื้นฐาน การจ้างงาน และการช่วยเหลือธุรกิจประเภทต่าง ๆ ให้อยู่รอด โดยผู้นำธุรกิจจะต้องปรับตัวสู่วิถีปกติใหม่ที่มาพร้อมกับการแทรกแซงจากภาครัฐที่มากขึ้น เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและภาครัฐตัดสินใจจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องติดตามการปรับเปลี่ยนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐได้นำภาษีจากประชาชนจำนวนมากไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นความท้าทายที่เกิดขึ้นในยุคนิวนอร์มัลคือจะทำให้การตรวจสอบรูปแบบต่างๆ จะต้องยกระดับความเข้มงวดให้มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาคธุรกิจจำเป็นจะต้องก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นเดียวกับภาครัฐ ในการรับผิดชอบช่วยเหลือสังคมให้ปรับตัวเข้าสู่ NEW NORMAL ในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน สำหรับในบริบทประเทศไทย นายวีรศักดิ์ เห็นว่าจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยเพื่อก้าวต่อไปในยุค NEW NORMAL ได้แก่
- เป็นศูนย์กลางด้านการบริการสุขภาพ และการให้บริการด้านสุขภาพอย่างรอบด้านและครบวงจร
- ด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) และการขายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry)
ผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ - สินค้าอาหาร และเกษตรแปรรูปจากชุมชน มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน
- อุตสาหกรรมการให้บริการรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล การค้าออนไลน์
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวท้องถิ่น เน้นสนุก สะอาด ได้ประสบการณ์วัฒนธรรมชุมชน เป็นต้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในทุกวิกฤติยังมีโอกาสอยู่เสมอ หากผู้ประกอบการเข้าใจสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกัน ก็จะสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้น และยังมีโอกาสจะเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤติอย่างชัดเจน โดยในงานสัมมนาในครั้งนี้ก็ได้มีผู้แทนจากทั้งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มาให้ความรู้ถึงรายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือต่างๆ และโอกาสต่างๆ ที่มีในเชิงลึกด้วย