เผยผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง 10% จำเป็นต้องใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ
สมาคมโรคไตฯ ชี้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง 5-10% เริ่มมีอาการเยื่อบุช่องท้องเสื่อมแล้ว จำเป็นต้องใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ เตรียมวิจัยประสิทธิภาพและความคุ้มค่าเสนอ สปสช.เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ในปีหน้า
นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ เลขาธิการสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต โรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่าขณะนี้ทางสมาคมโรคไตฯได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการศึกษาวิจัยการล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติในกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อนำเสนอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ต่อไป
นพ.สุชาย กล่าวว่า การล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติก็คือการล้างไตทางช่องท้องชนิดหนึ่ง แต่ใช้เครื่องในการเปลี่ยนถ่ายรอบน้ำยา ทำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำยาได้หลายรอบต่อวัน ส่งผลเปลี่ยนถ่ายของเสียออกมาได้จำนวนมาก ขณะที่การล้างไตทางช่องท้องทั่วๆ ไป ผู้ป่วยเป็นผู้เปลี่ยนถ่ายน้ำยาด้วยตัวเองซึ่งทำได้อย่างมากไม่เกิน 5 รอบ/วัน
นพ.สุชาย กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติว่า ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องมาเป็นเวลานานๆ เยื่อบุช่องท้องจะเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ต้องใช้ปริมาณน้ำยาล้างไตมากขึ้น การล้างไตด้วยมือก็จะไม่เพียงพอ ที่ผ่านมา สปสช.ให้สิทธิประโยชน์ล้างไตทางช่องท้องแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมา 13 ปี คนไข้ที่ทำมาเป็นเวลานานๆ ขณะนี้เยื่อบุช่องท้องเริ่มเสื่อมสภาพ มีภาวะสารน้ำและเกลือ มีของเสียคั่งในร่างกาย และต้องใช้น้ำยาล้างไตในปริมาณมากๆ การใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติจะทำให้เพิ่มปริมาณน้ำยาล้างไตได้มากขึ้น ล้างเอาน้ำและเกลือส่วนเกินได้สะอาดขึ้น ข้อดีอีกอย่างคือสามารถทำในขณะที่ผู้ป่วยนอนในเวลากลางคืนได้ จึงสะดวกกับผู้ป่วยที่ต้องไปทำงานในเวลากลางวัน หรือเด็กนักเรียน พอกลางคืนก็นอนพักแล้วให้เครื่องล้างไตทำงานไป
"ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ป่วยเด็กเพราะเขาต้องไปเรียนหนังสือ ต้องมีกิจกรรมในเวลากลางวัน กลุ่มต่อมาคือกลุ่มที่เยื่อบุช่องท้องเสื่อมจะมีภาวะสารน้ำและเกลือเกินในร่างกาย" นพ.สุชาย กล่าว
นพ.สุชาย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีคนไข้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพล้างไตทางช่องท้อง 30,000 ราย การล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องให้ทุกคน จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีผู้ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ 5-10% หรือประมาณ 3,000 คน โดยครึ่งหนึ่งสามารถเปลี่ยนไปใช้วิธีฟอกเลือดได้โดยต้องไปฟอกที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง แต่ก็มีอีกส่วนซึ่งประเมินไว้ที่ 1,000 รายที่การฟอกเลือดทำได้ลำบากเพราะอยู่ไกลจากสถานที่ฟอกเลือด ไม่มีเงินเดินทางเข้ามาโรงพยาบาลบ่อยๆ หรือป่วยเป็นอัมพาต เมื่อไม่ได้มาฟอกเลือดก็จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน ดังนั้นการมีเครื่องล้างไตอัตโนมัติจะช่วยชีวิตคนเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการล้างไตด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติมีราคาแพงกว่าการล้างไตด้วยมือ 3-4 เท่า ค่าใช้จ่ายของการล้างไตทางช่องท้องปกติประมาณ 10,000 บาท/คน/เดือน แต่ถ้าใช้เครื่อง ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท/คน/เดือน ขณะนี้ สิทธิประโยชน์ของ สปสช.จึงยังไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ แต่กระนั้นทาง สปสช.เองก็มีดำริที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนเห็นด้วยอย่างมาก
อย่างไรก็ดี การจะเพิ่มสิทธิประโยชน์นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาว่าจะใช้งบประมาณเท่าใด มีความคุ้มค่าหรือไม่ ทำแล้วคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเป็นอย่างไร ทางสมาคมโรคไตฯ จึงได้ทำการวิจัยนี้ขึ้น ใช้ระยะเวลา 1 ปีเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 เป็นต้นไป เพื่อศึกษาเปรียบเทียบวิธีการล้างไตโดยเครื่องอัตโนมัติ ล้างไตด้วยตัวเองตามปกติ และการล้างไตโดยใช้น้ำยาพิเศษที่สามารถล้างได้ดีแต่มีราคาแพง หลังจากได้ผลสรุปแล้วจะได้นำเสนอ สปสช. ประเมินและเตรียมการสิทธิประโยชน์ต่อไป
นพ.สุชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า โรคไตระยะสุดท้ายเป็นโรคที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย คุณภาพชีวิตแย่และมีโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้เข้าสู่ระยะที่ต้องล้างไต การป้องกันไม่ให้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ไตเสีย เช่น ระวังการใช้ยาโดยไม่จำเป็น การใช้ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นประจำ และ สปสช.ควรลงทุนกับการป้องกันโรค การตรวจคัดกรองคนไข้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคไต เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นต้น