โอกาสส่งออกดอกไม้ไทยสดใสหลังโควิด-19

โอกาสส่งออกดอกไม้ไทยสดใสหลังโควิด-19

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่เชียงใหม่ ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ของไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้ของไทยหลังโควิด-19 พ่นพิษ ส่งออกไทยชะลอ ขณะที่นักปรับปรุงพันธุ์หนุนเข้า UPOP 1991 ชี้ ทำให้พันธุ์ใหม่ของไทยได้รับการคุ้มครองในตลาดโลก

ไทยส่งออกไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้ในปี 2562 มีมูลค่า 132.7 ล้านดอลลาร์ ตลาดส่งออกหลักของไทย คือสหรัฐ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 22 % ของการส่งออกสินค้าไม้ดอกและไม้ประดับทั้งหมดของไทย ตามมาด้วยญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาด 16 % ขณะที่เวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาด 15 % ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของอาเซียน สหภาพยุโรป ส่วนแบ่งตลาด 14 % มีเนเธอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ1 และเกาหลีใต้ ส่วนแบ่งตลาด 6 % โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ดอกกล้วยไม้ ต้นกล้วยไม้ ไม้ใบประดับ ต้นกล้ากิ่งซำกล้วยไม้ หัวปทุมมา และกุหลาบ
ทั้งนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 11 ของโลก เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย หากนับเฉพาะการส่งออกไม้ตัดดอกไทยเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่เฉพาะดอกกล้วยไม้ไทยส่งออกเป็นอันดับ 2ของโลกรองจากเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ไทยนำเข้า ไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้มีมูลค่า 44.8 ล้านดอลลาร์ ตลาดนำเข้าหลัก คือจีน อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยูเครน โดยดอกไม้ที่นำเข้าเป็นไม้ดอกไม้ประดับ คาเนชั่น กุหลาบ ลิลลี่ เบญจมาศ และดอกไม้อื่นๆ
แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดส่งออกไม้ดอกไม้ประดับของไทยลดลง โดยในช่วงครึ่งแรกเดือนม.ค.-มิ.ย. ของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับและพันธุ์ไม้ของไทยอยู่ที่ 46.8 ล้านดอลลาร์ ลดลง 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยการส่งออกไปตลาดหลักของไทยส่วนใหญ่หดตัว ทั้งสหรัฐส่งออก 8.71 ล้านดอลลาร์ หดตัว 46% ญี่ปุ่น ส่งออก 8.38 ล้านดอลลาร์ หดตัว 17% สหภาพยุโรป ส่งออก 5.67 ล้านดอลลาร์ หดตัว 40% และเกาหลีใต้ ส่งออก 3.36 ล้านดอลลาร์ หดตัว 31%
159869199110
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เพื่อหารือนักวิจัยพัฒนาพันธุ์ และเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า คาดว่าแนวโน้มความต้องการไม้ดอกไม้ประดับในตลาดโลกจะยังคงชะลอตัวเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถคุมได้ในหลายประเทศ ทำให้การท่องเที่ยว การจัดประชุม สัมมนา การจัดงานกิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก และความต้องการใช้ไม้ดอกไม้ประดับในการตกแต่งสถานที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ หดตัวตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า สินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกและขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไทยมีจุดได้เปรียบจากภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิอากาศที่ดี การผลิตที่มาตรฐาน นอกจากนี้ไทยมีความสามารถพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆที่มีความสวยงามและเป็นที่ต้องการของตลาด
ที่สำคัญการที่ไทยมีเอฟทีเอด้านภาษี ที่ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดทางการค้าต่างๆโดยเฉพาะกำแพงภาษีศุลกากร ส่งผลให้สินค้าไม้ดอกไม้ประดับทุกรายการของไทยที่ส่งไปขายในประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ 17 ประเทศ เช่น อาเซียน 9 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เป็นต้าน ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เหลือเพียงอินเดียที่ยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับบางรายการไว้ เช่น ดอกกุหลาบและกิ่งชำ มอสและไลเคน ในอัตราภาษีที่ 5% ดอกกล้วยไม้ในอัตราภาษีที่ 60% เป็นต้น
“ในช่วงนี้ จึงเป็นช่วงที่นักวิจัยพัฒนาพันธุ์ของไทย จะเร่งพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับใหม่ๆ เนื่องจากดอกไม้เป็นสินค้าแฟชั่นที่ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ใหม่อยู่เสมอตามความต้องการของตลาด รวมทั้งใช้ข้อได้เปรียบทางภาษีโดยเจาะตลาดส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลงเอฟทีเอด้วย”
159869189635

สอดคล้องกับความเห็นของนางโสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ ที่ระบุว่า ดอกไม้เป็นแฟชั่น เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามความต้องการของตลาด เช่น ปีที่แล้วญี่ปุ่นชอบดอกไม้สีชมพู มาปีนี้ชอบสีแดง ซึ่งหากเราย่ำอยู่กับเราก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ดังนั้นการปรับปรุงหรือการพัฒนาพันธุ์จึงมีความสำคัญต่อการอุตสาหกรรมดอกไม้ไทย ซึ่งปัจจุบันงบประมาณในการทำงานวิจัยถือว่าน้อยมากๆ

สำหรับดอกไม้ 1 พันธุ์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าเกือบ 10ปี จะได้พันธุ์ที่หลากหลายสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยต้องใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทในการวิจัย แต่ผลตอบรับถือว่าคุ้มค่าทั้งงานวิจัยและเกษตรที่ได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตามเมื่อวิจัยได้พันธุ์สิ่งที่ต้องตามมาคือการคุ้มครองพันธุ์พืช ไม่เช่นนั้นเราก็จะถูกขโมย

“การคุ้มครองพันธุ์พืชก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ หากเราเข้าการเข้าร่วมภาคีในอนุสัญญายูพอฟ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants:UPOV1991) ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)หรือ UPOP 1991 มีประโยชน์ หากต้องการเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์พืชใหม่ สู่ตลาดต่างประเทศ เพราะจะทำให้พันธุ์พืชไทยได้รับการคุ้มครองไปประเทศสมาชิก UPOP 1991 กว่า 100 ประเทศ ซึ่งก็ดีกับนักปรับปรุงพันธุ์และเกษตรกร”

159869194981

ด้านนางลำพู เมฆคะนอง เกษตรกรผู้ปลูกปทุมมา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่และเป็นผู้ส่งออกปทุมมาทั้งดอกไม้สดและหัวพันธุ์ไปยังกลุ่มประเทศต่างๆในเอเชียและยุโรป กล่าวว่า ปีนี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งออกได้น้อย จากเดิมที่ส่งออกหัวพันธุ์ไปประเทศกลุ่มยุโรปจำนวน 2 ล้านหัว ต่อปี มูลค่า 20 ล้านบาท ขณะที่ดอกไม้สดก็ส่งออกไปยังเอเชียเนื่องจากระยะทางไม่ไกล ค่าขนส่งไม่แพงมากนัก เมื่อโควิด-19 ระบาดก็ต้องปรับตัวขายในประเทศมากขึ้น และวางแผนทำการตลาดในปีต่อไป รวมทั้งการศึกษาพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆจากศูนย์ฯ ซึ่งงบประมาณที่ได้มาช่วยในเรื่องของการปลูกปทุมมาก็ขอจากกองทุนเอฟทีเอมาช่วยทั้งการพัฒนาพันธุ์ พัฒนาดิน การพัฒนาโรงเรือน การฝึกอบรม ให้คำแนะนำ การเข้าสู่มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Prac-tices)

“อยากให้ภาครัฐช่วยหาตลาดส่งออก การนำเกษตรกรไปจัดบูธในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพราะจะช่วยให้มีลูกค้ามากขึ้น หรือจัดเวทีจับคู่ธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรก็มียอดขายมากขึ้น และเร่งพัฒนาพันธุ์ให้มีความหลากหลายมาก ซึ่งดอกไม้ปทุมมาถือว่าเป็นดอกไม้ที่มีโอกาสขายได้มาก เพราะลักษณะคล้ายกับดอกทิวลิปของเนเธอร์แลนด์ ”

แม้โควิค-19 จะกระทบต่อการส่งอออกสินค้าไม้ดอกไม้ประดับ ทำให้ยอดการส่งออกของไทยลดลงในครึ่งปีแรกของวันนี้ แต่สินค้าไม้ดอกไม้ประดับของไทยก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกด้วยคุณสมบัติสวย หลากหลายสายพันธุ์ เพราะได้รับการพัฒนาพันธุ์จนเป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบกับมีเอฟทีเอเป็นตัวช่วยก็ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะขยายการค้าดอกไม้ได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต