ไอเดีย “แก้มลิงใต้ดิน BKK”แก้ปัญหาน้ำท่วมคนกรุง

ไอเดีย “แก้มลิงใต้ดิน BKK”แก้ปัญหาน้ำท่วมคนกรุง

อธิการบดี สจล. ย้ำไอเดีย  “แก้มลิงใต้ดิน BKK”  นวัตกรรมอุโมงค์ใต้ดินเก็บน้ำยังสำคัญ พร้อมเสนอ แก้มลิงปากซอย แก้ปัญหาน้ำท่วมท้ายซอย ช่วยน้ำท่วมคนกรุงเทพฯ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โครงสร้างกรุงเทพฯ เป็นแอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำ เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้ เพราะท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย สูงกว่าถนน แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมี ‘อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ’ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด และปัญหาขยะอุดตัน

ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไประบายได้เต็มประสิทธิภาพ จึงมีปริมาณน้ำรอระบายบนพื้นถนนมากเกินไป จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เทคโนโลยีที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้าง แก้มลิงใต้ดินตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ซึ่งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีการสร้างแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน และสามารถเก็บน้ำได้มากถึง 350,000 ลูกบาศก์เมตร

159872141253

โดยแนวคิดนวัตกรรม แก้มลิงใต้ดิน BKK   เป็นนวัตกรรมอ่างเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็ก ๆ แล้วใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านใน สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น และสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ พร้อมเชื่อมกับระบบท่อระบายอื่น ๆ ของกทม. เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนน ไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ

ทั้งนี้ สามารถนำร่องศึกษาพื้นที่สวนเบญจกิติ บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร  โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำได้กว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังเสนอโมเดลแก้มลิงปากซอย ที่มีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำเมื่อฝนตก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมท้ายซอย ซึ่งจะช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที  

จากการวิจัยพบว่า หากมีพื้นที่น้ำท่วมขังราว 50% ของพื้นที่กรุงเทพ เป็นระยะเวลา 120 นาที จะก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเวลาและเศรษฐกิจสูงกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากเราลดระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลงมาเหลือ 15 นาที จะมีมูลค่าการสูญเสียเพียง 60 ล้านบาท หรือเท่ากับสามารถลดมูลค่าการสูญเสียได้กว่า 440 ล้านบาท ในทุกครั้งที่ฝนตกน้ำท่วม" ศ.ดร.สุชัชวีร์

เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ในระยะเวลาน้ำท่วมขัง 2 ชั่วโมงต่อฝนตกหนึ่งครั้ง อยู่ที่ 0.0114% นับว่า ‘แก้มลิงใต้ดิน’ ใช้งบลงทุนที่น้อย แต่สามารถช่วยจัดการปัญหาเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ