วิกฤติโลกร้อน กับโอกาสในการลงทุน

วิกฤติโลกร้อน กับโอกาสในการลงทุน

"วิกฤติโลกร้อน" หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการรณรงค์ลดใช้พลาสติกเท่านั้น แต่นำไปสู่โอกาสในการลงทุนธุรกิจต่างๆ โดยธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนกว่า

กระแสความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ได้กลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ หลายฝ่ายได้ออกมารณรงค์ให้มีการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยตัวอย่างที่สื่อมวลชนกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ สาวน้อยชาวสวีเดน เกรต้า ธันเบิร์ก ที่ได้ออกมาปลุกกระแสรักษ์โลก โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานใหญ่ๆ มากมายรวมถึงการประชุมสหประชาชาติ และงาน World Economic Forum เพื่อให้ทั่วโลกฉุกคิดถึงวิกฤติโลกร้อน...ก่อนที่จะไม่เหลือโลกอันสวยงามให้คนรุ่นเธออยู่อาศัยในอนาคต

วิกฤติโลกร้อนนี้เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนมาก จนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟป่า หรือภัยแล้ง และถ้าหากว่าทุกฝ่ายยังคงไม่ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและยังคงปฏิบัติเช่นเดิม จะส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

แต่นับเป็นความโชคดีที่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกเพิกเฉย หลายประเทศเริ่มคำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติได้ลงนามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ประเทศกลุ่มยูโรโซนได้ลงนามข้อตกลง EU Green Deal ที่จะใช้เม็ดเงินราว 1.1 ล้านล้านยูโร เพื่อลงทุนให้ยุโรปเป็นภูมิภาคแรกที่ปล่อยก๊าซ CO2 ให้เหลือ 0 ภายในปี 2050 ส่วนประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ก็ไม่ได้ละเลยประเด็นนี้ นาย Joe Biden ระบุว่า ถ้าหากได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จะมีการลงทุนเพื่อลดการปล่อย CO2 ให้เหลือ 0 ภายในปี 2050 เช่นกัน ด้านประเทศจีนก็ได้วางแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดการปล่อย CO2

การที่จะต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้นั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่การรณรงค์ลดใช้พลาสติกเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตลอดจนห่วงโซ่อุปทานในทุกภาคส่วนธุรกิจ ทั้งภาคพลังงาน การขนส่ง เกษตรกรรม รวมถึงการแพทย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อสภาวะโลกร้อนและต้องใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวนั้นคาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ซึ่งเทียบกับเท่ากับเม็ดเงินที่รัฐบาลทั่วโลกใช้ในการพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาสู่โอกาสในการลงทุนในธุรกิจต่างๆ มากมาย เนื่องจากเราเชื่อว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นจะมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และมีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนกว่าธุรกิจที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าในที่สุดแล้วบริษัทที่เพิกเฉยจะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ถูกจำกัดการดำเนินธุรกิจ ถูกยึดใบอนุญาตจากรัฐบาล หรือได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคลดลง ทำให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด

ตัวอย่างของหุ้นกลุ่มผู้ชนะที่จะได้รับประโยชน์จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ได้แก่

1.การใช้รถยนต์ไฟฟ้า - ไม่เพียงแต่บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่บริษัทอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ทำสถานีชาร์จไฟฟ้า และบริษัทที่ทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์

2.การใช้พลังงานสะอาด - การที่ทั่วโลกหันมาใช้พลังงานสะอาดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงพลังงานจากชีวมวล

3.การควบคุมการปล่อยก๊าซ - ในการจำกัดปริมาณคาร์บอนนั้น หลายๆ หน่วยงานจะต้องอาศัยบริการจากบริษัทที่เสนอวิธีการแก้ปัญหา หรือ Solution provider เช่น บริษัทพัฒนา Software เพื่อพัฒนาการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทนของการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงในวันนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น โลกยังห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้

ดังนั้นการลงทุนในหุ้นที่มีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่พอร์ตการลงทุนได้ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า แต่ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ดีเพื่อส่งต่อไปยังลูกหลานของเราในอนาคตอีกด้วย