กางบัญชี ‘เชนร้านอาหาร’ ครึ่งปีแรก 2563 ใครรุ่ง ใครร่วง? ในยามวิกฤติโควิด

กางบัญชี ‘เชนร้านอาหาร’ ครึ่งปีแรก 2563 ใครรุ่ง ใครร่วง? ในยามวิกฤติโควิด

กางบัญชี "เชนร้านอาหาร" จากบิ๊กคอร์เปอเรท ส่งผลประกอบการไตรมาส 2 ครึ่งปี 2563 ที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ชะลอ ผลพวงจากมรสุมโควิด-19 ใครจะยังคงทำกำไรได้บ้าง? หรือใครต้องประสบภาวะขาดทุน

ถึงช่วงเวลาของการรายงาน “ผลประกอบการบริษัทไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายบริษัทที่ประกาศมาแล้ว ซึ่งปีนี้บริษัทเกือบทุกเซ็กเตอร์ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยแม้จะมีบางธุรกิจโตสวนกระแส แต่ส่วนมากเมื่อประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมา หลายองค์กรเข้าสู่แดนลบ ตัวเลขรายได้และกำไรร่วงรูด 

แต่หากเจาะลึกใน ธุรกิจเชนร้านอาหาร หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ และต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคและสถานการณ์ที่บีบบังคับให้การบริการไม่สามารถดำเนินการในรูปแบบเดิมได้ แต่ละรายมีการปรับตัวอย่างไร และวิกฤติครั้งนี้ฉุดเงินในกระเป๋าไปเท่าไร

  • ZEN รายได้ลดเกินครึ่ง รุกเดลิเวอรี่เต็มสูบ

ZEN หรือ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Service) ที่ถือแบรนด์เชนร้านอาหารในมือกว่า 14 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น ZEN, AKA, On the table, เขียง ตำมั่ว ฯลฯ ซึ่งวันนี้อยู่ภายใต้การบริหารของ "บุญยง ตันสกุล" ล่าสุดได้ประกาศผลประกอบการของบริษัทออกมาแล้ว โดยรายได้รวมไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 338.6 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากการขายและบริการ (ขายอาหารและเครื่องดื่มให้สิทธิ์แฟรนไชส์) 327.6 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 10.9 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 55.8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากปี 2562 มีรายได้รวม Q2 อยู่ที่ 765.2 ล้านบาท

ภาพรวมรายได้ในครึ่งปีแรก 2563 เครือ ZEN โกยไปทั้งหมด 982.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 34.3% หรือจากรายได้เดิม 1,495.7 ล้านบาท ทั้งนี้ในการประกาศรายได้ครั้งนี้ มีการวิเคราะห์บริษัทไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งปัจจัยที่เข้ามากระทบรายได้หลักๆ หนีไม่พ้นวิกฤติโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ศูนย์การค้าต่างๆ ต้องปิดบริการเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 22 มี..-17 ..2563 ซึ่งเป็นพื้นที่หลักหรือช่องทางการขายหลักของเครือ

สำหรับการปรับตัวในช่วงที่ผ่านคือ การเพิ่มบริการเดลิเวอรี่มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างดี จากข้อมูลของบริษัทพบว่า ยอดขายผ่านเดลิเวอรี่ของ ZEN ใน Q2/63 เพิ่มขึ้นถึง 270% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ยังเดินหน้าปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ทั้งการเจรจาของลดค่าเช่าพื้นที่ ประกอบกับออกนโยบายสมัครใจลางานโดยไม่รับค่าจ้าง แต่ขณะเดียวกัน เครือ ZEN ก็ยังมีการขยายสาขาแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันราว 24 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเปิดภายใต้แบรนด์เขียง

ทั้งนี้อย่างไรก็ตามยอดขายของเครือ ZEN เริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทคาดการณ์ว่า Q3/63 รายได้จะเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ภาพรวมการเงินครึ่งปีหลังของเครือดีขึ้น

  • Minor อ่วม ครึ่งปีขาดทุนหมื่นล้าน

ในส่วนของบิ๊กเชนธุรกิจของโลกอย่างเครือMinor” หรือบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ส่วนทั่วโลก ทั้งไมเนอร์ โฮเทลส์ ธุรกิจโรงแรมและสปา, ไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น อเนลโล่, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี ฯลฯ และอีกหนึ่งธุรกิจหลักคือ ไมเนอร์ ฟู้ด ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ภาพรวมของเครือไมเนอร์ใน "ทุกธุรกิจ" ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 นี้ รายได้รวมอยู่ที่ 6.68 พันล้านบาท ลดลง 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากบริษัทยังต้องเผชิญความท้าทายกับวิกฤติโควิด-19 ทำให้ภาพรวมรายได้บริษัทในช่วงครึ่งปีแรกนั้นอยู่ที่ 2.92 หมื่นล้านบาท ลดลงราว 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่กำไรสุทธิ Q2/63 ติดลบ 8.44 พันล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิภาพรวมครึ่งปีแรกติดลบอยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของผลการดำเนินงาน ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงแรมและอื่นๆ 62% รองลงมาคือ ร้านอาหาร 33% ตามด้วยจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิตอีก 5%

วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้ธุรกิจของไมเนอร์ทั่วโลกต้องสะดุด โดยเฉพาะเดือนเมษยน-พฤษภาคม โรงแรม ร่านอาหารและร้านค้าไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ทั่วโลกในเครือต้องปิดบริการชั่วคราว บริษัทจึงต้องดึงกลยุทธ์ควบคุมค่าใช้จ่ายมาใช้ เพื่อรักษากระแสเงินสดและสภาพคล่องไว้ อีกทั้งยังออกหุ้นกู้ราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา สถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น หลายประเทศเปิดพรมแดน ทำให้ธุรกิจในส่วนของโรงแรมมากกว่า 70% กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารมากกว่า 90% ก็เริ่มเข้าการบริการเช่นเดิม ซึ่งมีการประมาณการว่า Q4/2563 ทุกธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ปกติและเป็นไปในลักษณะเชิงรุก

ดิลลิป ราชากาเรียประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MINT กล่าวว่าไตรมาส 2 เป็นไตรมาสที่ท้าทายที่สุด ไม่เพียงแต่ไมเนอร์เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในภาคการบริการและการท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งทางไมเนอร์มีความผิดหวังกับผลประกอบการในไตรมาส 2 และมีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบ

อย่างไรก็ตามหากมองแยกเฉพาะไมเนอร์ฟู้ด พบว่า Q2/63 ยอดขายโดยรวมทั้งหมด รวมทั้งที่บริษัทลงทุนเองและสาขาแฟรนไชส์ (ที่ให้บริการทั้งในและต่างประเทศ) ลดลงราว 36.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในไทย Q2 ยอดขายโดยรวมทุกสาขาลดลง 21.8% เทียบกับปีก่อน ขณะเดียวกันมีการขยายสาขาร้านบอนชอนเพิ่ม 1 สาขา เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในเบรดทอล์ค กรุ๊ป เป็น 25.1% จากเดิม 14.2% นอกจากนี้ได้ปิดบางสาขาของร้านแดรี่ ควีน, เอ็กซ์เพรส, เดอะ คอฟฟี่ คลับ และซิซซ์เลอร์

สำหรับในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นกลยุทธ์ที่เป็นจุดแข็งของไมเนอร์ฟู้ด คือ การมุ่งไปที่เดลิเวอรี่มากขึ้น มีการเพิ่มแบรนด์อื่นเข้าไปในแอพพลิเคชั่น 1112 Delivery มีทั้งเดอะ พิซซ่า คอมปะนี บอนชอน เอส แอนด์ พี เบรดทอล์ค ขณะที่แบรนด์ซิซซ์เล่อร์มีการขยายธุรกิจรูปแบบใหม่เป็นซิซซ์เล่อร์ทูโก นอกจากนี้ยังมีการนำกลยุทธ์ครัวกลางเข้ามาใช้ด้วย

  

  • MK หืดจับครึ่งปีฟันกำไรสุทธิ 93 ล้าน

สำหรับธุรกิจเครือ MK หรือบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร ที่หลายคนคุ้นเคยคือ ร้านสุกี้ชื่อดังในชื่อร้านเอ็มเค สุกี้ ซึ่งปัจจุบันโดยรวมแล้วในเครือมีแบรนด์ในมือกว่า 12 แบรนด์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เครือเอ็มเคเพิ่งทุ่มเงินกว่า 2 พันล้านบาท ซื้อกิจการแหลมเจริญซีฟู้ดเพื่อเสริมพอร์ตธุรกิจ

เมื่อเร็วๆ นี้เครือ MK ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 นี้ ซึ่งมีรายได้รวมจากการขายและบริการราว 2,163 ล้านบาท ลดลงราว 51.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากยังต้องเผชิญกับพิษวิกฤติโควิด-19 อยู่ โดยจากรายงานระบุว่า แม้ยอดขายจากการสั่งซื้อกลับบ้าน แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ของการนั่งกินที่ร้านต่างๆ ในเครือได้

ทั้งนี้ในส่วนร้านอาหารสาขาเพิ่งสามารถกลับมาเปิดได้เมื่อ 17 พฤษภาคม 2563 แต่ก็ยังคงต้องทำตามมาตรการด้านสาธารณสุขอยู่ ที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และยังคงต้องปิดบริการเร็วกว่าปกติ จึงทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย

และในเดือนมิถุนายน 2563 ยอดขายปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น

ทั้งนี้ภาพรวมรายได้ในช่วงครึ่งแรก 2563 อยู่ที่ 5,958 ล้านบาท ลดลง 32.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้สัดส่วนธุรกิจส่วนใหญ่เทไปที่ MK รองลงมาเป็นยาโยอิ  ขณะที่กำไรสุทธิช่วง Q2/63 ขาดทุน 247 ล้านบาท ลดลงไปกว่า 936 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า ขณะที่กำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2563 โดยรวมมีกำไร 93 ล้านบาท ลดลงกว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อ MK ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 เช่นเดียวบริษัทอื่นในธุรกิจร้านอาหาร ที่ผ่านมาจึงพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย ซึ่งสามารถลดได้ 687 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วง Q2 ของปี 2562 และ 2563

โดยจากบทวิเคราะห์ธุรกิจของเอ็มเคของธนาคารกรุงเทพ ชี้ว่าปีนี้เกิดปรากฏการณ์ในรอบ 33 ปี ที่เอ็มเคจัดทัพวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป 1 แถม 1 หรือยอมเฉือนเนื้อตัวเอง 50% รวมถึงการหันมาจับช่องทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้เปิดบริการใหม่ MK FRESH MART ขายผักสดระยะเวลาราว 1 เดือน เป็นต้น

  • เครือไทยเบฟต้านไม่ไหว Q1 ขาดทุน 43 ล้าน

ขณะที่หนึ่งในแนวหน้าธุรกิจเชนร้านอาหารในไทย คือเครือไทยเบฟหลากหลายเชนที่ไทยเบฟครอบครองเข้ามาช่วยเสริมพอร์ตโฟลิโอได้อย่างมาก แต่ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2563 มรสุมวิกฤติโควิดส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ไทยเบฟก็ต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่เช่นกัน อย่างธุรกิจร้านอาหารแรกเริ่มที่ไทยเบฟเข้าไปจับอย่างเครือโออิชิ (OISHI) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

โดยช่วงไตรมาส 2/2563 หรือนับเป็นไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2563 ตามงบการเงินของบริษัท (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) ภาพรวมรายได้จากการขายและให้บริการของบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยอยู่ที่ 2,154 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงไปกว่า 40.8% หรือประมาณ 1,485 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักคือวิกฤติโควิด-19 โดยในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร Q2/2563 สามารถทำรายได้เพียง 630 ล้านบาท ลดลงไปกว่า 65.8%

เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ไม่สามารถเปิดให้นั่งกินอาหารในร้านได้ชั่วคราวตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคม จึงต้องปรับแผนเปลี่ยนสัดส่วนสู่การเดลิเวอรี่เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป รวมถึงลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น รวมถึงควบคุมต้นทุนด้านวัตถุดิบมากขึ้น ส่วนกำไรสุทธิพบว่าแม้จะมีวิกฤติ แต่เครือโออิชิยังคงทำกำไรได้ 137 ล้านบาท แต่ลดลงจากปีก่อน 67.6%

รายได้จากเครือโออิชินับเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของธุรกิจร้านอาหารของเครือไทยเบฟ ทั้งนี้เครือไทยเบฟมีการรายได้ผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 (เดือนมกราคม-มีนาคม 2563) แต่ยังไม่มีผลประกอบการไตรมาสล่าสุด (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) โดยพบว่าบริษัทมีรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร 3,477 ล้านบาท ลดลงราว 8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากเครือโออิชิ ทำให้ภาพรวมบริษัทขาดทุนราว 43 ล้านบาท

ซึ่งไทยเบฟมีรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร พบว่าปัจจัยหลักคือวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลต่อธุรกิจร้านอาหารทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจัยหลักด้านข้อจำกัดด้านการเดินทาง การปิดสนามบิน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบางสาขาในเครือ ซึ่งไทยเบฟดึง 2 กลยุทธ์ใหญ่ในการรับมือช่วงที่มีมาตรการเครือฟิว ช่วงเมษายนถึงราวกลางพฤษภาคม 2563 ทั้งการมุ่งเน้นเดลิเวอรี่ และการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ

นอกจากนี้ไทยเบฟยังคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารในอนาคต ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งหลักๆ มี 4 ด้าน คือ 1.ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องความสะอาด ปลอดภัย และสุขอนามัย จึงต้องมีการปรับมาตรฐานให้พร้อมรองรับกับผู้บริโภคในอนาคตด้วย 2.โควิด-19 ก่อให้เกิน Homebody Economy มากขึ้น 3.การระบาดของเชื้อไวรัสเร่งให้ผู้คนใช้เครื่องดิจิทัลและออนไลน์มากขึ้น และ 4.ผู้บริโภคต้องการความคุ้มค่ามากขึ้นจากเงินที่ใช้จ่ายไป ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ

ทั้งน้ีจากภาพรวมธุรกิจของเชนร้านอาหารจากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ ทำให้เห็นภาพของผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลกระทบต่อแทบธุรกิจ เพียงแต่ใครปรับตัวได้เร็ว ก็จะมีโอกาสเห็นแสงสว่างข้างหน้ามากกว่า ซึ่งหลังจากนี้ในครั้งปีหลัง 2563 ยังเป็นช่วงเวลาต้องจับตาต่อไป จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของเชื้อไวรัสที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด

ที่มา : bangkokbiznews(1)bangkokbiznews(2)set, minormintset(2)m.listedcompanybangkokbanksmeset(3)thaibev