ธุรกิจร่วมฝ่าวิกฤติโควิด 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง'
กระบวนการเร่งฟื้นฟู-เยียวยาประเทศจากวิกฤติโควิด ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพต้องยื่นมือเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ รักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจให้นานที่สุด เพื่อประคองห่วงโซ่ธุรกิจ รวมถึงไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยที่คลี่คลายในระดับหนึ่ง หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมายาวนาน ขณะนี้จึงอยู่ในกระบวนการของการเร่ง “ฟื้นฟู-เยียวยา” ประเทศขนานใหญ่ โดยแม่ทัพ กองหน้า ในการแก้ไขปัญหานี้ ที่ผ่านมามักพุ่งเป้าไปที่ “รัฐบาล” ในการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ประคับประคองสถานการณ์ด้านต่างๆ ของประเทศให้ฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายภาคส่วนที่จะมีส่วนช่วย “ลดผลกระทบโควิด” หนึ่งในนั้นคือ ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในรายที่ยังพอมีสายป่านยาว สามารถกลั้นลมหายใจธุรกิจได้นานกว่าธุรกิจขนาดเล็กที่สายป่านใกล้ขาด จากปัญหาสภาพคล่อง สนับสนุนด้วยคำกล่าวตอนหนึ่งของนางแซนด้า โอเจียมโบ ผู้อำนวยการบริหารของสหประชาชาติ โกลบอล คอมแพ็ก ในงาน "GCNT FORUM 2020 :Thailand Business Leadership for SDGs โดยเธอเรียกร้องให้ “ภาคธุรกิจในไทยและทั่วโลก” เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปกป้องพนักงาน คู่ค้า ชุมชน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเร่งฟื้นฟูธุรกิจช่วงสถานการณ์โควิด โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
พร้อมยังเรียกร้องภาคธุรกิจแสดงความ “เป็นผู้นำ” ท่ามกลางวิกฤติโควิด ในการรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจไว้ให้ยาวนานที่สุด เพื่อประคองห่วงโซ่ธุรกิจ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าคบคิด นั่นเพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดบานปลาย เดินไปสู่การ เลิกจ้าง ปลดแรงงาน ปิดกิจการหนักข้อขึ้นแล้ว ผลกระทบตามมาย่อมใหญ่หลวง เมื่อเทียบกับการใช้ความพยายาม“อย่างถึงที่สุด”ในการประคองธุรกิจไว้ รอจนกว่าสถานการณ์โควิดโลกจะคลี่คลาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะดีขึ้นในปีหน้า จากผู้เชี่ยวชาญสามารถค้นพบวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด
ดังนั้นการแก้ไข เยียวยา ปัญหาโควิด ว่ากันตามจริงแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจาก “ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนเหล่านี้ที่ยังพอมี “ศักยภาพ” จะต้องยื่นมือ แสดงตัว เข้ามาช่วยกันสางวิกฤติ แก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ ให้คลี่คลาย ผ่อนหนักเป็นเบา เพื่อให้ประเทศรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาไปด้วยกัน “รีเซ็ท” เศรษฐกิจ ธุรกิจครั้งใหม่ รับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังโควิด อีกบริบทความท้าทายที่ธุรกิจ เศรษฐกิจ ต้องเผชิญในบทต่อไป