“เอส เอฟ” หวังหนังฟอร์มยักษ์ ฮีโร่กอบกู้โรงภาพยนตร์พ้นวิกฤติ
การฟื้นธุรกิจหลังโควิด-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่เพียงพึ่งพา “จุดแข็ง”(Strengths)จากภายในองค์กรของตัวเอง ยังต้องเผชิญอุปสรรค(Threats)ความยากลำบากจากปัจจัยภายนอก จึงถือเป็นเรื่องโหดหินอย่างยิ่ง !
ในส่วนของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 9,000 ล้านบาท ผ่านไป 2 เดือนเต็ม กับการกลับมาเปิดให้บริการ ตอนแรกทำท่าจะดี ทว่าข้อเท็จจริงพบว่า ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่พร้อม ที่สำคัญการระบาดของโควิดทั่วโลกยังรุนแรง โดยเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่สุดแล้ว เปิดโรงหนัง แต่ขาด “คอนเทนท์” คือ “หนังฟอร์มยักษ์” เพื่อดึงผู้บริโภคเข้ามาดูหนัง ทำให้การสร้าง “รายได้” กลายเป็นโจทย์ยาก
สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉายภาพให้กรุงเทพธุรกิจฟังว่า นาทีนี้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้อง “รอภาพยนตร์” ที่จะเข้ามาฉายเพียงอย่างเดียว เพราะตราบใดที่โรงหนังในสหรัฐปิดให้บริการ หนังจากฮอลลีวู้ดย่อมยังไม่มีโรงฉาย สุดท้ายโรงหนังตัวเลขจึงไม่มีรายได้ตามไปด้วย
แม้ปัจจัยลบยังมี แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ธุรกิจเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะฮอลลีวู้ด หรือบรรดาสตูดิโอ ผู้สร้างหนัง ต่างพยายามหาโมเดลดึงรายได้ให้กลับมาระหว่างที่สหรัฐยังล็อกดาวน์ธุรกิจ เมื่อหนังฟอร์มยักษ์อย่าง “เทเน็ท”(TENET)ของเจ้าพ่อคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ ขอทดลองกอบกู้!ธุรกิจ ด้วยการนำร่องฉายหนังในตลาดต่างประเทศ(International) ทั่วโลกภายใต้เงื่อนไขประเทศนั้นๆควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี ส่วนตลาดในประเทศ(Domestic)อย่างสหรัฐ ไม่สามารถฉายได้ไม่เป็นไร
โมเดลการฉายหนังของ “เทเน็ท” นับว่าช่วยสร้างปรากฏการณ์เรียกคนดูกลับเข้าสู่โรงภาพยนตร์ได้อย่างดี และทำให้สตูดิโออื่นๆทยอยปล่อยหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉายในตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง เช่น หนังสร้างจากจักรวาลมาร์เวลล์ “มิวแทนท์รุ่นใหม่”หรือ The New Mutants โกยคนดูได้อีกเรื่อง ส่วน “มู่หลาน”(Mulan) จากค่ายดีสนีย์ หนังฟอร์มใหญ่ที่ทุกคนรอคอย จะเข้าฉาย 4 ก.ย.นี้ “วันเดอร์ วูแมน1984”(Wonder Woman 2) เข้าฉาย 1 ต.ค.นี้ และภาพยนตร์สายลับ “เจมส์ บอนด์”(No Time to Die)เข้าฉายเดือนพ.ย.นี้ จะเป็นแรงส่งทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์กลับมาคึกคักได้
“สิ่งที่ฮอลลีวู้ดทำคือโมเดลใหม่ นำหนังฉายทั่วโลกก่อน โดยไม่สนใจตลาดสหรัฐ เพราะโควิดยังระบาด เมื่อหนังฟอร์มยักษ์ทยอยฉายในต่างประเทศ ตลาดจึงค่อยๆปรับตัวดีขึ้น”
ด้านโรงภาพยนตร์เอส เอฟ หลังเปิดให้บริการ 2 เดือน ยังคงรักษามาตรการเว้นระยะห่าง การจำหน่ายที่นั่งได้เพียง 50% โดยอัตราการขายตั๋วอยู่ที่ 65% ของจำนวนที่นั่งดังกล่าว ทำให้ภาพรวม “ต้นทุน” การดำเนินงานยังคงสูงกว่ารายได้ บริษัทจึงยัง “ขาดทุน” อยู่ และได้เจรจาผู้ประกอบการห้างค้าปลีก หาแนวทางช่วยเหลือโดยเฉพาะค่าเช่าเพื่อประคับประคองธุรกิจ เพราะโรงภาพยนตร์ถือเป็นผู้เช่าหลัก (Anchor) ช่วยดึงกลุ่มเป้าหมาย (Traffic) ให้มาช้อปชิมชิลล์ที่ศูนย์การค้า
“ตั้งแต่คลายล็อกดาวน์ธุรกิจ รายได้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังแย่ แต่เป็นทั่วโลก อัตราการเข้าชมยังต่ำ เพราะไม่มีหนังดึงคนดู แม้ไทยจะมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี ทำให้คนไทยมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ดูหนังปกติ แต่เรายังรอหนังฟอร์มยักษ์อยู่”
อย่างไรก็ตาม การปรับกลยุทธ์การทำตลาดมีต่อเนื่อง ทั้งสร้างกิมมิคการชมภายนตร์จากในรถหรือไดรฟ์-อิน จัดโปรโมชั่นลดราคา เป็นต้น
“โรงภาพยนตร์คือโรงภาพยนตร์ คนต้องการมาดูหนัง จะปรับตัวอย่างไร ที่สุดหากมีหนังดีคนก็เข้ามาดู ดังนั้นสำคัญสุดเราขออย่างเดียว หนังฟอร์มใหญ่ทั้งหมดที่เลื่อนฉายจากปีนี้ไปปีหน้า อย่าเลื่อนอีกเลย”
วันนี้สถานการณ์โรคระบาดยังไม่นิ่ง และไม่มีใครตอบได้ว่าต่างประเทศจะคุมโรคระบาด ระลอกสองจะเกิดหรือไม่ อนาคตสถานการณ์ในไทยจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างยากคาดการณ์ (Unforseen) แต่ “เอส เอฟ” จะประคับประคองธุรกิจ พนักงานให้ดีที่สุด ส่วนการเติบโตของธุรกิจปี 2563 ไม่ต้องเอ่ยถึง เพราะเป็นปีที่ธุรกิจทุกเซ็กเตอร์บาดเจ็บสาหัส
“ปีนี้เราจะประคับประคองให้ธุรกิจยังขับเคลื่อนไปได้ ขาดทุนไหม ขาดทุนแน่ๆ แต่เราต้องทำให้ทุกอย่างอยู่ในสิ่งที่เราวางแผนไว้ บริหารจัดการตัวเอง ควบคุมต้ทุน ดูแลพนักงานไม่ให้เดือดร้อน”