ส่ง 4 หน่วยงาน ฟัน 'คดีบอส' เปิด 8 กลุ่ม สอบสวนไม่ชอบ
ส่งรายงานสรุปคดี “บอส อยู่วิทยา” ถึงมือนายกฯ เตรียมแถลงทุกประเด็นวันนี้ ลั่นเปิดชื่อคนผิดทั้งหมด ไม่มีกั๊ก เตรียมส่ง 4 หน่วยงาน “ป.ป.ช.-ปปท.-ปปง.-ดีเอสไอ” เอาผิดวินัย-อาญา “8 กลุ่ม” เอี่ยวกระบวนการสอบสวนไม่ชอบ ลุยต่ออีก 30 วัน
วานนี้ (31 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นำรายงานฉบับสมบูรณ์ในการค้นหาความจริงกรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส กรณีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 มารายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการนำเสนอรายละเอียดทั้งหมด
จากนั้นนายวิชา ให้สัมภาษณ์ว่า รายงานฉบับนี้มีรายละเอียดกว่า 100 หน้า และมีข้อสรุปจริงประมาณ 10 หน้า ซึ่งเป็นรายละเอียดเขียนไว้ชัดเจนว่า เกิดความบกพร่องที่ใคร หน่วยงานไหน โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมรับฟังด้วย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังและจดบันทึกด้วยตัวเอง และเตรียมที่จะแถลงรายละเอียดในวันนี้ พร้อมมอบหมายให้ตนและคณะกรรมการฯ นำเสนอรายละเอียดทั้งหมดต่อทันที โดยจะมีการเปิดการแถลงข่าวที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
โดยภายหลังการแถลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้แจกข้อมูลสำคัญในเอกสารให้กับสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อไป เพราะถือว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ เป็นการตรวจสอบโดยโปร่งใส ไม่มีลับลมคมใน และพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการนำเรื่องนี้ไปสู่การแก้ไขอย่างแท้จริง
“ในเอกสารข้อสรุปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะนำมาเปิดเผย อ่านดูก็รู้ว่าใครผิด รายละเอียดจะอยู่ในนั้นทั้งหมด จะรู้หมดเลย เขียนชัดเจน ไม่มีกั๊ก มีทั้งชื่อ ทั้งตำแหน่ง ทั้งหน่วยงานอยู่ในนั้นทั้งหมด นอกจากนี้ในรายงานยังระบุความผิดวินัย อาญา และจริยธรรม โดย พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจอยู่แล้วว่า จะต้องส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบต่อไป”
สำหรับกรณีที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผบ.ตร. นำหลักฐานมายืนยันว่าตนเองอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงเวลาที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน อ้างว่า พล.ต.อ.สมยศ ได้แนะนำให้รู้จัก นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักวิชาการ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเร็วรถนายวรยุทธนั้น นายวิชา พูดตัดบททันทีว่า “เอาเถอะ เราชัดเจนอยู่แล้ว ไปอ่านในสำนวนจะรู้เลย ทั้งหมดอยู่ในรายงาน ไม่มีแทงกั๊ก ทำอะไรเราต้องโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ ไม่มีแทงกั๊ก ไม่มีคลุมเครือ”
ทั้งนี้หลังจากนี้คณะกรรมการฯยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่ออีก 30 วัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คดีดังกล่าวมีความคืบหน้ามาโดยตลอด ตนได้พูดคุยกับนายวิชาที่เข้ามาชี้แจง 5 ประเด็น ซึ่งในวันนี้มีปัญหาในข้อกฎหมายมาก ทั้งในเรื่องของสำนวนและการเรียกพยานมาสอบปากคำ ซึ่งที่จริงควรจะจบไปตั้งนานแล้ว ทั้งนี้ต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่อไป ให้เกิดความชัดเจน เพราะท้ายที่สุดแล้วก็ต้องไปดูในเรื่องของกฎหมาย ระเบียบ และการร้องให้ทำคดีใหม่ ส่วนตัวคิดว่ายังสามารถที่จะดำเนินคดีได้
ส่วนที่นายวิชา ระบุว่าคดีดังกล่าวพบพิรุธจนกลายเป็นมหากาพย์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าจะพูดอย่างนั้น ก็พูดได้ ก็คงใช่ ถ้าไปโยงกันอย่างนั้น และถ้ามองในภาพใหญ่ คำว่ามหากาพย์คงไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องไปดูเรื่องของกฎหมายและระเบียบการ ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวันโน ประธานอนุกรรมการ ชุดพิจารณาข้อกฎหมายคดีนี้ ก็มารายงานขั้นตอนในคดีความ และการร้องเรียนด้วย
“มันมีอะไรที่หล่ะหลวมอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อได้ความจริงมาแล้วก็จะต้องสั่งตั้งคณะกรรมการทำงานในส่วนนี้ ทั้ง 5 ประเด็น เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ให้เสียกฏหมาย เพราะอย่าลืมว่า คดีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายแสนคดี ที่เขาไม่มีปัญหาอะไร ก็มีเยอะแยะ ไม่ใช่ระบบเราล้มเหลวทั้งหมด ผมว่าบกพร่องด้วยคนนั่นแหละ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เนื้อหาในรายงานตรวจสอบที่นายวิชา ส่งมอบให้พล.อ.ประยุทธ์ แบ่งออกเป็น 5-6 ส่วนหลัก คือ 1.กระบวนการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้มีการรื้อคดีสอบสวนใหม่ทั้งหมด เช่น การให้นายตำรวจที่ถูกชนเสียชีวิตตกเป็นผู้ต้องหา การสร้างพยานหลักฐานเท็จโดยเฉพาะเรื่องความเร็วของรถเฟอร์รารี
2.เห็นควรให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยและอาญากับผู้เกี่ยวข้องจำนวน 8 กลุ่ม โดยส่งเรื่องให้หน่วยงานสอบสวน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ)
3.ให้สอบสวนจริยธรรมของผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนทำให้การสอบสวนมีความบกพร่องและให้เผยแพร่รายงานการสอบสวนต่อสาธารณชนทั้งหมด
4.ให้แก้ไขระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การมอบอำนาจ เมื่อผู้บังคับบัญชามอบอำนาจให้ระดับรองไปแล้ว ต้องเข้าไปติดตามกำกับดูแล ไม่ใช่เป็นการมอบอำนาจให้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนทำให้เกิดปัญหาเหมือนกรณีตำรวจและอัยการในคดีนายวรยุทธ ดังนั้นหากไม่ติดตามกำกับดูแล ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชามีความผิด
5.การร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการของผู้ต้องหา ควรพิจารณาดำเนินการได้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ถ้าหากจะมีการร้องขอความเป็นธรรมเพิ่มเติม ต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น นอกจากนั้นเมื่ออัยการสูงสุด (อสส.) มอบให้รอง อสส.ไปดูแลงานเหล่านี้ จะต้องแยกการร้องขอความเป็นธรรมกับการสั่งคดีออกจากกันจะให้อยู่ที่รอง อสส.เพียงคนเดียวไม่ได้ เพื่อให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
6.ควรมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ให้ไม่มีอายุความเหมือนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง