ทำความรู้จัก 'Coliving Space' เทรนด์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่
ทำความรู้จัก "Coliving Space" หรือการเลือกอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน เทรนด์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่
- อะไรคือ Coliving Space?
ผมนั่งฟัง คุณ Ajay Kumar, Founder and CEO of TheHouseMonk, คุณ Penny Clark, the Co-Founder and Head of Research and Sustainability at Conscious Coliving, และ คุณ Felix Ferdinand, the Co-Founder and CEO of Kuala Lumpur based Coliving Company called ‘Hom’ อย่างสนใจ เคยได้ยินคำนี้มาบ้าง แต่ไม่เคยรู้ละเอียดว่ามันหมายถึงอะไร
“Coliving คือการเลือกอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปัน” Felix เริ่มก่อน “แต่ละชุมชนจะมีพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวม ส่วนตัวหมายถึงห้องนอน ห้องน้ำ ส่วนรวมหมายถึงบริเวณนั่งเล่น ห้องครัว หรือพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ”
อ้อ.... ผมเริ่มเข้าใจว่า คงมีคล้ายกับ Working Space ที่เปิดให้บริการ มีแอร์ มีห้องน้ำ มีเน็ต มีกระทั่งกาแฟของว่างบริการพร้อมสรรพ และเป็นการใช้พื้นที่แบบแบ่งปัน คือข้างๆ เราอาจมี CEO จากอีก 3-4 บริษัทมานั่งด้วย ต่างคนต่างใช้คอมพ์ทำงานกันไป
“เราพบว่า คนรุ่นใหม่มีความนิยมในการใช้ชีวิตแบบ Coliving มากขึ้น” คุณ Ajay แชร์บ้าง “เช่น จบจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เพิ่งเริ่มทำงานแห่งแรก หรืออาจยังไม่มีงานทำด้วยซ้ำไป Coliving ให้ประโยชน์ด้วยค่าเช่าราคาถูกกว่า เพราะเป็นการแชร์พื้นที่ร่วมกันคนอื่น คล้ายมีคนมาช่วยหารรายจ่าย”
“นอกจากนั้น ข้อดีที่คนอาจมองข้ามหรือนึกไม่ถึงคือ การได้ขยาย Network ของตัวเองมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับเพื่อน กระทั่งโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ กับผู้อื่นที่อยู่ร่วม Coliving ด้วยกัน”
คุณ Penny เพิ่มเติมมาว่า “และอย่าลืมประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย หลาย Coliving เป็นที่รวมของคนซึ่งคิดคล้ายๆ กัน เช่นต้องการรักษ์โลก ก็จะมีกติกาห้ามใช้พลาสติก หรือถ้าเป็นกลุ่มรักสุขภาพ เราจะเห็นบทสนทนา ประกาศ การชักชวนกันไปออกกำลังในที่ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ นี่ยังไม่รวมกลุ่มผู้สูงอายุ คล้ายกับ Nursing Homes แต่ในกรณีนี้ยังเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงดี ไม่ถึงกับต้องมีคนดูแล แค่บริเวณพักอาศัยมีอุปกรณ์อันเหมาะสม เช่น Ramp ราวจับบันได ห้องนวด และกิจกรรมซึ่งคนวัยใกล้กันสนใจ ปลูกต้นไม้ ทำกับข้าว Handicraft”
ว้าว... คิดตามไปมา Coliving มันมีมุมที่เป็นประโยชน์หลายด้านทีเดียวนะเนี่ย
- ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
Coliving ต่างอย่างไรกับแฟลต? ถามกันตรงๆ ก็ตอบกันตรงๆ คุณ Felix บอกว่าเอาเข้าจริงหากดูแค่เผินๆ มันก็คล้ายกัน เป็นห้องเช่าราคาถูกซึ่งต้องแชร์พื้นที่บางส่วนร่วมกัน ดังนั้นหัวใจของความสำเร็จของผู้บริหาร Coliving จึงไม่ได้อยู่แค่โมเดลธุรกิจ แต่อยู่ที่ความละเอียดในการให้บริการ เช่น มีระบบการสกรีนผู้เข้าพักอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งบริษัทของเขาให้ความสำคัญตรงจุดนี้มาก ก่อนจะรับทำสัญญาเช่า สมาชิกจะมีการสัมภาษณ์ มีการทำแบบสอบถาม ตรวจเช็คประวัติเช็ค Reference ไม่ต่างจากการสมัครเข้าทำงาน
"กลุ่มลูกค้าประเภทหนึ่งของผม คือบริษัทซึ่งมาทำสัญญาเช่า Coliving เป็นสวัสดิการให้พนักงานพัก ประโยชน์ที่ได้คืออยู่ใกล้ออฟฟิศไม่ต้องเดินทางไกล และอยู่ร่วมกันกับเพื่อนในบริษัทแบบ Cross-fuction ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย ได้งานช่วงนอกเวลาทำงานด้วย จะว่าไป ก็คล้ายๆ กับการมี Google Campus ให้กับบริษัทตัวเอง โดยไม่ต้องลงทุนมากอย่างกูเกิล" เขาเล่าพร้อมรอยยิ้ม
- Coliving ดูแลความปลอดภัยผู้พักอย่างไร?
การสกรีนจึงสำคัญมากดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ต่างอะไรกับ Grab ซึ่งต้องตรวจสอบประวัติผู้ขับอย่างละเอียดถี่ถ้วน Coliving อาจต้องทำกระทั่งการเช็กโซเชียล เพื่อดูว่าสมาชิกใหม่นั้นไม่มีความเสี่ยงจริงๆ นี่ยังไม่รวมระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่น กล้องวงจรปิด รปภ.ประจำพื้นที่ ระบบแจ้งเตือนภัย รวมไปถึงการออกแบบ การสร้างพื้นที่ส่วนตัวซึ่งสามารถล็อคป้องกันคนภายนอกได้อย่างแน่นหนา Coliving เป็นสังคมของคนยุคดิจิตัล ฉะนั้นบริษัทบริหารต้องระวังไม่ให้พลาดเกิดเหตุ มิฉะนั้นชื่อเสีย(ง)จะแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว และทำให้ลูกค้าตีจากไปได้โดยง่าย
Coliving จะสู้คอนโดแบบฟรีดาวน์ได้หรือ? ความต้องการอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งในยุคคอนโดฯราคาย่อมเยาหาได้ไม่ยาก ดาวน์ต่ำผ่อนยาวจนค่างวดรายเดือนไม่ต่างอะไรกับการเช่า คนจะมาอยู่ Coliving หรือ? คำถามนี้คุณ Penny เป็นผู้ตอบ “หากมองเช่นนั้นก็ใช่ แต่ดิฉันคิดว่าเราต้องมอง Coliving ให้ไกลกว่าแค่การเป็นที่อยู่อาศัย อย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนค่านิยมไม่สะสมสมบัติ ต้องเสียภาษีที่ดินด้วย (อันนี้ผมเติมเอง) พวกเขามีความมุ่งมั่น มี Leadership อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น แต่เปลี่ยนโลกทั้งใบมันยาก Coliving จึงเป็นเสมือนโลกใบเล็กๆ ซึ่งสมาชิกสามารถสร้างกันเองได้”
Coliving is all about community, but it also supports individuality. It’s about sharing rather than consumption, and collaboration rather than competition.