'ราคาน้ำมัน' ปรับขึ้นครั้งแรกรอบ 4 วัน หลังศก.ส่งสัญญาณฟื้น
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นเล็กน้อยในวันอังคาร (1 ก.ย.) ได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐและจีนที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว เพิ่มแนวโน้มสำหรับอุปสงค์พลังงานในอนาคต
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือน ต.ค. ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดที่ 42.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 15 เซนต์ (0.4%) ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ งวดส่งมอบเดือน พ.ย. ปิดที่ 45.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 30 เซนต์ (0.7%)
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปิดในแดนบวกเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ ได้แรงหนุนจากข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐและจีน
ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีที่แล้ว จากระดับ 54.2 ในเดือน ก.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5
ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เพราะได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน
ข้อมูลดังกล่าวของสถาบัน ISM สอดคล้องกับรายงานของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.1 ในเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีที่แล้ว จากระดับ 50.9 ในเดือน ก.ค.
ขณะที่ผลสำรวจซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน (Caixin) ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน อยู่ที่ระดับ 53.1 ในเดือน ส.ค. พุ่งขึ้นจากระดับ 52.8 ในเดือน ก.ค. ทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนจะอยู่ที่ 52.7 ในเดือน ก.ค.
นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐ โดยสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) มีกำหนดเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ เวลา 21.30 น. ตามเวลาไทย
ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ในผลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์ คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะลดลง 1.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 ส.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 5 สัปดาห์