เร่งตั้ง รมว.คลัง เรียกความเชื่อมั่น
ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ-การเมือง การลาออกของนายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.คลัง ไม่เพียงกระทบการทำงานของทีมเศรษฐกิจ แต่อาจส่งผลถึงความเชื่อมั่น ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประคองสถานการณ์ให้ดี และรีบหาผู้เหมาะสมมาดูแลกระทรวงการคลังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
การลาออกของนายปรีดี ดาวฉาย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 จะไม่กระทบเฉพาะการทำงานของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่ขาดขุนคลังมาทำงานให้ต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง เพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่อาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นของหลายฝ่ายทั้งประชาชนและภาคเอกชน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่ต้องรับภาระหนักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ก้าวพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายบอบช้ำจากผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องแสดงบทบาทในการเป็นผู้นำแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงบทบาทการประคองทีมเศรษฐกิจให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา เพราะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่ากลไกการทำงานบางอย่างของรัฐบาลไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างที่ควรจะเป็น จนถึงขั้นมีผู้วิจารณ์รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวงไม่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
ปัจจุบันกระทรวงเศรษฐกิจถูกกระจายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับ 5 ดูแล คือ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กำกับดูแลกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน 2.นายวิษณุ เครืองาม กำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม 3.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม
การเป็นรัฐบาลพรรคร่วมทำให้ไม่มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ชูขึ้นมาได้เหมือนรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจด้วยตัวเอง แต่ก็มีปัญหารองนายกรัฐมนตรีบางคนไม่ค่อยเข้าประชุม ต่อมาเมื่อโควิด-19 กระทรวงเศรษฐกิจรุนแรง จึงได้ตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ขึ้นมา
หากนับตั้งแต่ช่วงรอยต่อการปรับ ครม.ครั้งล่าสุดถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 2 เดือน ที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอตัว และยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้เวลาอีกเท่าไหร่จึงจะได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเมือง ซึ่งมีแรงกดดันต่อนายกรัฐมนตรีจากประชาชน พรรคฝ่ายค้าน และแม้แต่ในพรรคพลังประชารัฐที่กำลังออกมากดดันการปรับ ครม.อีกรอบ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องประคองสถานการณ์เช่นนี้ให้ดี และรีบหาผู้เหมาะสมมาดูแลกระทรวงการคลังเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา