โควิด ทำของเถื่อนหายจากตลาด
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผย โควิด-19 ระบาดส่งผลดีทำของเถื่อนตามย่านการค้า และแหล่งท่องเที่ยว ลดฮวบกว่า 50% เดินหน้าไลฟ์สดทำลายของกลางกว่า 7 แสนชิ้น 9 ก.ย.นี้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลให้การขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะละเมิดเครื่องหมายการค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนมดังๆ จากต่างประเทศ อย่างเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด นาฬิกา แว่นตา เป็นต้น และวางขายในย่านการค้า และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ถนนสุขุมวิท พัฒน์พงศ์ สีลม พัทยา หาดป่าตอง ฯลฯ เพราะย่านการค้า และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซบเซา ภายหลังรัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์ และปิดน่านฟ้า ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมาก
“สินค้าละเมิดที่วางขายตามย่านการค้า และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ลดลงมาก ประเมินแล้วไม่ต่ำกว่า 50%ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมาก เพราะสินค้าละเมิดแทบหาซื้อไม่ได้ หวังว่า เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ผู้ค้าเหล่านี้ จะกลับมาค้าขายสินค้าอื่นๆ แทนสินค้าละเมิด”
ทั้งนี้การที่มีศูนย์ประสานงานเพื่อปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPEC)ตามย่านการค้าต่างๆ เช่น มาบุญครอง ตลาดนัดจตุจักร ฯลฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าละเมิดลดลงด้วย เพราะศูนย์นี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา มาทำงานร่วมกัน เพื่อตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการละเมิดในพื้นที่ต่างๆ จนนำมาซึ่งการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ค้าสินค้าละเมิดได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ กรม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีทำลายของกลาง ที่เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่คดีถึงที่สุดแล้ว โดยในครั้งนี้ จะทำลายของกลางรวมทั้งสิ้นกว่า 700,000 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท
“การทำลายของกลางในครั้งนี้ จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ที่จะเห็นภาพมีรถบดทับทำลายของกลาง แต่ครั้งนี้จะทำแบบNew Normalคือจะจัดที่กระทรวงพาณิชย์ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม และจะมีการไลฟ์สดผ่านStreaming, FacebookและZoomซึ่งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่างๆ สามารถร่วมรับชมได้ จะมีภาพที่ถ่ายทอดสดมาจกเตาเผา และเครื่องบดอัด ทำให้เห็นว่า ของละเมิดได้ถูกทำลายจริงๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ว่า ไทยเอาจริงกับการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา”
นายทศพล กล่าวต่อถึงการละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตว่า ในเร็วๆ นี้ กรมจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ เช่นShopee, Lazadaเป็นต้น เพื่อให้ตรวจสอบ ไม่ให้มีการขายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์ม รวมถึงแนวทางการดำเนินการหากพบการขายสินค้าละเมิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดำเนินการ กับเว็บไซต์ และURLต่างๆ ที่มีเนื้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เว็บที่ละเมิดภาพยนตร์ และเพลงจากต่างประเทศ และศาลได้สั่งให้ปิดกั้น หรือเอาเนื้อหาละเมิดออก แต่เว็บไซต์ และURLยังไม่ได้ดำเนินการตามศาลสั่ง หรืออาจปิดเว็บไซต์ตามศาลสั่งแล้ว แต่กลับไปเปิดเว็บใหม่ ที่มีเนื้อหาละเมิดเช่นเดิม ซึ่งจากนี้ไป จะใช้กฎหมายของดีอีเอส ในการติดตามว่าผู้ละเมิดได้ดำเนินการตามศาลสั่งแล้วหรือไม่ อย่างไร จากเดิมที่ไม่มีระบบการตรวจติดตาม
ขณะเดียวกัน หากมีการปิดเว็บละเมิดแล้ว แต่ได้เปิดเว็บใหม่ ที่มีเนื้อหาละเมิดอีก ก็จะใช้คำสั่งศาลที่ได้สั่งให้เว็บเก่าไปแล้ว มาบังคับปิดเว็บที่เปิดใหม่ได้เลย โดยที่ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องใหม่ ซึ่งจะทำให้การปราบปรามเว็บละเมิดรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.61-มิ.ย.63 ศาลได้สั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลออกจากเว็บไซต์แล้ว 1,501URL