สรุปที่มาการรีแบรนด์ 'Au Bon Pain' สู่ 'อุบลพรรณ'
สรุปที่มาที่ไปของกระแสฮือฮาในโลกออนไลน์ เมื่อ "Au Bon Pain" หรือ "โอ บอง แปง" เบเกอรี่คาเฟ่ชื่อดัง ทำท่าคล้ายจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อไทย ๆ ว่า "อุบลพรรณ" ตามไปทำความรู้จักบริษัทเบื้องหลังแบรนด์นี้ และผลประกอบการย้อนหลังช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของกระแสการประกาศรีแบรนด์ของ Au Bon Pain เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.ย. โดยเพจเฟซบุ๊ค Au Bon Pain (Thailand) หรือ โอ บอง แปง ประกาศผ่านหน้าเพจว่า "R.I.P. อ.อุบลพรรณ" พร้อมขึ้นตัวอักษรสีขาวพื้นหลังดำเสมือนการไว้อาลัย
อย่างไรก็ตาม R.I.P. ในที่นี้ไม่ได้มาจากคำว่า Rest In Peace ที่แปลว่าการไว้อาลัยในภาษาอังกฤษ แต่เป็นการเล่นคำโดยใช้ตัวย่อ R คือ Renewed, I คือ Identity และ P คือ Personality
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ย้อนรอยต้นกำเนิด au bon pain ก่อนจะเป็น 'อุบลพรรณ'
- จาก au bon pain สู่ 'อุบลพรรณ' ตั้งชื่อแบรนด์ยังไงให้ติดใจลูกค้า?
ต่อมาเช้าวันที่ 7 ก.ย. เพจโอ บอง แปง เจ้าเดิม ได้ประกาศรีแบรนด์ใหม่ ภายใต้ชื่อ "อุบลพรรณ by au bon pain" และตั้งชื่อเล่นสั้น ๆ ว่า "เฌอแปง" (ไม่เกี่ยวกับเฌอปราง BNK48) พร้อมกับเผยโฉมโลโก้ใหม่สีเหลืองสดใส
(อัพเดท-ภายหลังบริษัทได้ออกมาชี้แจงผ่านการตอบคอมเมนต์ของลูกเพจว่า นี่เป็นเพียงแคมเปญการตลาดออนไลน์)
สำหรับชาวไทยที่รู้จัก โอ บอง แปง เป็นอย่างดีคงรู้สึกอินมากหน่อย หากคาเฟ่ดังเจ้านี้จะเปลี่ยนชื่อมาสู่ อุบลพรรณ เพราะรู้กันดีว่า ชื่อร้าน Au Bon Pain ที่มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ร้านที่มีขนมปังอร่อยนั้น มักถูกเรียกผิด หรือเพี้ยนไปจนเป็นร้านสัญชาติไทยที่ชื่อ "อุบลพรรณ" หรือแม้แต่ "อุบลเพ็ญ" ทาง โอ บอง แปง จึงพลิกเป็นโอกาสให้ธุรกิจตัวเองด้วยการส่งชื่อเรียกง่ายๆ อย่าง อุบลพรรณ มาเสิร์ฟคนไทยเสียเลย
ขณะที่กระแสตอบรับกลยุทธ์ทางการตลาดสุดแนวของโอ บอง แปง แม้ยังประเมินไม่ได้ว่าถูกอกถูกใจกลุ่มผู้บริโภคหรือไม่ แต่หากวัดเป็นตัวเลขการมีส่วนร่วมทางออนไลน์ (Engagement) บนหน้าเพจเฟซบุ๊ค Au Bon Pain ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเรียกยอดแชร์ ไลค์ และคอมเมนท์ถล่มทลายมากกว่าโพสต์ส่วนใหญ่ของเพจด้วยซ้ำ
- ย้อนเส้นทาง "โอ บอง แปง" บุกตลาดไทย
โอ บอง แปง เริ่มเข้ามาเปิดสาขาในไทยเมื่อปี 2540 หลังจากขายแฟรนไชส์ให้กับ บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM โดยเป็นการดำเนินการร้านรูปแบบ เบเกอรี่ คาเฟ่ ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ และเปิดสาขาแรกที่อาคารสินธร ถนนวิทยุ
ปัจจุบัน โอ บอง แปง เติบโตอย่างต่อเนื่องจนขยายสาขาเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 60 สาขาทั่วประเทศไทย
ขณะที่บริษัทมัดแมน ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยธุรกิจที่ประกอบหลัก ๆ คือร้านอาหารและเครื่องดื่ม นอกจาก โอ บอง แปง แล้ว บริษัทยังถือสิทธิแฟรนไชส์แบรนด์ดังอื่น ๆ รวมถึง Greyhound Cafe, Dunkin’ Donuts และ Baskin-Robbins
จากการตรวจสอบงบการเงินย้อนหลัง 3 ปีล่าสุดระหว่างปี 2560-2562 ของบริษัทมัดแมน (ไม่รวมบริษัทย่อย) จากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปีที่แล้ว บริษัทมีรายได้รวม 161.46 ล้านบาท ลดลง 42.10% จากปี 2561 ซึ่งมีรายได้กว่า 278.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.84% จากปี 2560 ที่มีรายได้ 169.18 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทมัดแมน แจ้งผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อยต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ส.ค. ว่า รายได้รวมในไตรมาส 2 ของปี 2563 อยู่ที่ 441 ล้านบาท ลดลง 68.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีรายได้ 741 ล้านบาท
ขณะที่รายได้รวมครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2563 อยู่ที่ 1,075 ล้านบาท ลดลง 39.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท โดยบริษัทระบุว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้ลดลงนี้มาจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ผู้บริโภคจับจ่ายน้อยลง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในสมรภูมิเบเกอรี่
- ต้นกำเนิด "โอ บอง แปง"
ข้อมูลจากเว็บไซต์ aubonpainthailand ระบุว่า โอ บอง แปง ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองบอสตันของสหรัฐเมื่อปี 2521 โดยผู้ก่อตั้งชื่อ "หลุยส์ เคน" ซึ่งได้แนวคิดในการอบขนมใหม่สดแบบฝรั่งเศสและลักษณะของคาเฟ่เทอเรส ที่นำเสนอความหลากหลายของสินค้าต่าง ๆ
ทั้งนี้ หลุยส์ เคน จึงได้พัฒนาร้านที่มีแนวคิดเดียวกันในบอสตันเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ "Au Bon Pain the bakery café" และให้คำจำกัดความของ Bakery Café ว่าเป็น สถานที่ที่นำเสนอความหลากหลายของอาหารและเครื่องดื่ม โดยให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพความสดใหม่ของอาหารและบริการ
ปัจจุบัน โอ บอง แปง มีสาขาทั่วโลกกว่า 300 สาขา รวมถึงในสหรัฐ อินเดีย และไทย ส่วนใหญ่กว่า 200 สาขาอยู่ในสหรัฐ ซึ่งในทุกสาขาของโอ บอง แปง จะตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งที่สะดวกในการใช้บริการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นย่านธุรกิจชื่อดัง ศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียง โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือเขตที่มีสถานที่สำคัญแวดล้อมไปด้วยกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนทำงาน นักธุรกิจรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา ที่มีการดำเนินชีวิต และรสนิยมทันสมัยเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง