'เศรษฐกิจ' ป่าล้อมเมือง ข้าว-ยางแกร่งแรงราคาหนุน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ย่ำแย่ยังพบว่าภาคการเกษตรน่าจะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจประเทศไม่ให้ทรุดตัวหนักได้ หลังราคาสินค้าเกษตรรายการสำคัญๆ ปรับตัวสูงขึ้น
เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนปากเหวหรือจริงๆแล้วได้หล่นลงไปจากปากเหวแล้ว เพราะการท่องเที่ยวซบเซาจากพิษโควิด-19 ส่วนการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักก็คงจะกระเตื้องยากเพราะตลาดปลายทางอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ต่างจากไทย ผลพวงจากสองปัจจัยนี้ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยส่อแววทรุดตัวอย่างหนักท่ามกลางสถานการณ์ที่ย่ำแย่ยังพบว่าภาคการเกษตรน่าจะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจประเทศไม่ให้ทรุดตัวหนักได้ หลังราคาสินค้าเกษตรรายการสำคัญๆ ปรับตัวสูงขึ้น
เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายปี สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งโรงสีและผู้ส่งออก กังวลว่าจะไม่มีข้าวจึงแข่งกันซื้อทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันข้าวเปลือกเจ้า 5% อยู่ที่ตันละ 10,000 บาท
“ตอนนี้ราคาข้าวแตะที่ตันละหมื่นบาทถือว่าดีมากในรอบหลายปี แน่นอนชาวนาดีใจแต่ก็ต้องดูว่าราคานี้จะไปต่อได้หรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตาดู รวมถึงเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศด้วย”
จากสถานการณ์ส่งออกข้าวที่ไม่สดใสนัก โดยประเมินปริมาณส่งออกปี 2562 ที่ผ่านมาที่7.5 ล้านตัน และปีนี้ประเมินว่าอาจส่งออกได้เพียง6.5 ล้านตันนั้น อาจเป็นแรงกดดันกลับมาทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวลดลง แต่ในทางกลับกันหากปลายปีการส่งออกมีคำสั่งซื้อที่ดี ก็จะเป็นผลดีต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศด้วย
ทั้ังนี้ การเก็บเกี่ยวข้าวสำหรับนาปี คือช่วง พ.ย.ส่วนนาปรัง มี.ค.-เม.ย. ซึ่งต้องไปลุ้นต่อว่าราคาข้าวจะปรับตัวดีขึ้นเหมือนในขณะนี้หรือไม่ ส่วนปัจจัยการระบาดของโควิด-19 เชื่อว่ามีผลต่อราคาข้าวน้อยมากเพราะเป็นปัจจัยระยะสั้นในเชิงดีมานด์ตลาด เมื่อผู้ซื้อปลายทางมีสต็อกที่น่าพอใจแล้วดีมานด์จะปรับสู่ความสมดุลเองในที่สุด แต่ปัจจัยโควิดจะกระทบการส่งออกทางอ้อม เช่น การขนส่งสินค้า และยังต้องดูเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย
อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวว่า ราคายางพาราโดยเฉพาะน้ำยางข้นที่ปรับตัวสูงขึ้น อยู่ที่ กิโลกรัม (กก.)ละ 40 บาท บางวันแซงราคายางแผ่นดิบ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สืบเนื่องมาจากการผลิตถุงมือยาง ที่ใช้น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบ ตอบสนองผู้บริโภคทั่วไปที่กังวลเรื่องสุขอนามัยที่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ คือมาเลเซีย รวมทั้งจีน ต้องการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน โรงงานถุงมือยางในประเทศ ก็ขยายกำลังการผลิต ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางข้นที่ออกสู่ตลาด ไม่เพียงพอกับความต้องการ
“ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะขายยางพาราในรูปของน้ำยางข้น ดังนั้น ราคาที่ปรับขึ้นนั้นจึงส่งผลให้เกษตรกรได้รับโดยตรง จะถูกหักราคาบ้างเพราะเปอร์เซ็นต์น้ำมีเยอะ แต่โดยรวมแล้วถือว่าดี อย่างไรก็ตาม ระดับราคาควรจะสูงกว่านี้ ถ้าไม่มีผู้ประกอบกั๊กราคาเอาไว้ เพราะหากปล่อยให้สูงขึ้นอีก ต้นทุนการผลิตถุงมือยางก็จะปรับเพิ่มขึ้น”
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย.(กยท.) กล่าวว่า แนวโน้มราคายางปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน จนถึงปลายปี หรืออาจจะต้นปีหน้า เหตุผลใหญ่คือ ปริมาณความต้องการถุงมือยางมีมากขึ้น ปัจจุบันออเดอร์ของโรงงานใประเทศเต็มทุกแห่งยาวไปจนถึงปลายปี 2564 ซึ่งจะทำให้ดูดซับน้ำยางข้นจากเกษตรกรโดยตรง
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรรายการสำคัญๆปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้แต่ไม่สามารถทำให้ฟื้นตัวได้เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจได้แก่ ส่งออกที่แม้จะพ้นจุดต่ำสุดแล้วแต่ก็ไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว การใช้จ่ายในประเทศ ยังเผชิญความไม่เชื่อมั่นใจ ส่วนการท่องเที่ยว ที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 20% ถือว่าดับสนิทไปแล้วในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินขนาดของภาคการเกษตรประเทศจะพบว่า ราคาสินค้าทำให้เกษตรกรราว 12-15 ล้านคน จากลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญๆ เช่นข้าว 4 ล้านครัวเรือน มีความเชื่อมั่นการใช้จ่ายหลังราคาข้าวปรับตัวดีขึ้น และยางพาราอีกรวม1 ล้านครัวเรือน ที่ได้อานิสงค์ยางแผ่นรมควันชั้น 3ราคา60บาทต่อกก. มีความสบายใจมากขึ้นที่จะใช้จ่าย ทำให้กลุ่มสินค้า เช่นรถปิกอัพ เครื่องมือการเกษตร ขายดีขึ้น
“ภาคการเกษตรจะช่วยดูดซับแรงงานที่ตกงานทั้งจากภาคอุตสาหกรรม การค้า และภาคบริการ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปลักษณะเดียวกับกรณีการเกิดวิกฤติหลายๆครั้งที่ผ่านมาที่ภาคเกษตรทำหน้าที่พยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวรุนแรงมาก เราจึงยังประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 8-10%”
ทั้งนี้ ภาครัฐต้องประคองสถานการณ์นี้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลราคาสินค้าเกษตรให้ดีอย่างต่อเนื่อง การคงโครงการประกันรายได้ไว้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรเพื่อรักษาความเชื่อมั่นการใช้จ่าย และการสร้างงานภาคเกษตร ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรมากขึ้น