เปิดปม 'พนันออนไลน์' ทำไมก.ม.ไทยปราบไม่อยู่?
จากกรณี "ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์" เปิดใจว่า ติดพนันออนไลน์จนมีหนี้สินจำนวนมาก และเป็นชนวนเหตุหย่าร้างกับ "หนุ่ม ศรราม" ขณะที่รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ยอมรับ สั่งปิดเว็บพนันออนไลน์โดยลำพังไม่ได้ จึงเกิดคำถามว่า ทำไมกฎหมายไทยถึงปราบเรื่องนี้ได้ยากเย็นนัก
"เรื่องพนันออนไลน์ บทบาทหลักเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพนัน พ.ศ. 2478 ในการบังคับใช้" นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ชี้แจงถึงประเด็นการปราบปรามเว็บพนันออนไลน์เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 63
และเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ นายพุทธิพงษ์ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช., ตำรวจ, ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ISP ทุกราย และโอเปอร์เรเตอร์มือถือทุกรายหารือเรื่องพนันออนไลน์ ณ สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 9 ก.ย. เวลา 13.00 น.
ด้าน นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดีอีเอส เสริมว่า การสั่งปิดเว็บพนันออนไลน์นั้น กระทรวงดีอีเอสไม่สามารถสั่งปิดได้โดยตรง เนื่องจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 20 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงการสั่งปิดเว็บพนันออนไลน์ ต้องอาศัยฐานข้อมูลจาก พ.ร.บ.พนันออนไลน์ เหมือนลักษณะเดียวกับการจับลิขสิทธิ์ต้องใช้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ขณะที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2563 ฉบับปรับปรุงแก้ไขใน มาตรา 14 กระทรวงดีอีเอสสามารถดำเนินการสั่งปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้โดยตรง โดยอาศัยอำนาจจากศาลฯ
"ดังนั้น ถ้าต้องการให้กระทรวงดีอีเอส ปิดเว็บไซต์พนันออนไลน์ต้องทำหน้าที่ร่วมกัน คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และ ดีอีเอส ถึงจะสามารถดำเนินการสั่งปิดเว็บไซต์ได้" นายภุชพงค์ กล่าว
สำหรับคำนิยามของ การพนันออนไลน์ คือ รูปแบบการเล่นพนันผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต โดยการพนันออนไลน์ถูกพัฒนามาจาการเสียงโชคตามบ่อนกาสิโนที่มีการพนันโดยถ่ายทอดสดให้กับผู้เล่นได้เลือกเข้าไปใช้บริการอยู่มากมาย เช่น เกมกาสิโน แทงบอลออนไลน์ หวยออนไลน์ และเกมอื่น ๆ
ขณะเดียวกัน การถ่ายทอดสดตรงมาจากบ่อนกาสิโนช่วยทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกเหมือนได้เล่นเกมพนันอยู่ในบ่อนกาสิโนจริง ๆ อีกทั้งมีความปลอดภัยจากการถูกทำร้ายร่างกาย และไม่ต้องเสียเวลาหรือเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้เล่นสามารถเล่นการพนันออนไลน์ได้ผ่านทางคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้หรือมือถือที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เมื่อการพนันออนไลน์มีผู้สนใจใช้บริการมากขึ้นจึงส่งผลทำให้เกิดความตื่นตัวในหลาย ๆ ด้านรวมถึงด้านกฎหมายด้วย
- "พนันออนไลน์" กับ "กฎหมายไทย"
ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยเขียนในคอลัมน์ "กฎหมาย 4.0" ระบุว่า ถึงแม้การพนันจะอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีการอนุญาตให้มีบ่อนกาสิโนที่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะสามารถเข้าไปเล่นได้เหมือนอย่างประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อโลกปัจจุบันมีเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งพื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตนั้นมีลักษณะพิเศษ คือ มีขอบเขตที่กว้างขวางทำให้คนที่อยู่ต่างสถานที่สามารถติดต่อและเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้การเล่นการพนันออนไลน์เป็นอีกช่องหนึ่งในการพนันที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศมีความเคลื่อนไหวในการแสวงหามาตรการทางกฎหมายมารองรับปรากฏการณ์การพนันออนไลน์ในปัจจุบัน โดยมีการพยายามร่างกฎหมายการพนันเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพนัน พ.ศ. 2478 ที่ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและบทบัญญัติบางประการยังไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม ไม่สอดคล้องกับสภาพการเล่นการพนันที่ได้มีการพัฒนาวิธีการ รูปแบบให้ซับซ้อนมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต จึงสมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวในเรื่องมาตรการควบคุม การตรวจสอบ การอนุญาต การโฆษณา การจัดให้มีการพนัน ตลอดจนปรับปรุงอัตราโทษ อัตราภาษี ค่าธรรมเนียม และบัญชีการเล่นการพนันท้าย พ.ร.บ.ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
แม้ พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงการพนันออนไลน์อย่างชัดเจน
ดร.ภาณุพงศ์ ระบุว่า ปัจจุบัน มาตรการทางกฎหมายของไทยที่นำมาใช้รับมือกับการพนันออนไลน์ คือการอาศัยความตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 4 ทวิแห่ง พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ที่บัญญัติว่า ในการเล่นอื่นใดนอกจากที่กล่าวในมาตรา 4 จะพนันกันหรือจะจัดให้มีเพื่อให้พนันกันได้เฉพาะการเล่นที่ระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวง เมื่อการพนันออนไลน์เป็นการเล่นพนันที่มิได้ถูกระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวงจึงเป็นการพนันที่ผิดกฎหมายนั่นเอง
นอกจากนี้ยังได้นำเอามาตรการปิดกั้นการเข้าถึงหรือบล็อกเว็บไซต์ที่เปิดให้มีการพนันออนไลน์ โดยถือว่าเข้าข่ายเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีตามมาตรา 20 (3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 (แก้ไข พ.ศ. 2560) ที่บัญญัติว่าในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือกฎหมายอื่น
ข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอพนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์การพนันทางอินเทอร์เน็ตได้
ส่วนการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อรับมือกับการพนันออนไลน์นั้น ในร่าง พ.ร.บ. การพนันที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ พ.ศ. 2559 ได้เพิ่มบทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับการพนันออนไลน์ไว้ในมาตรา 36 โดยบัญญัติให้การจัดให้มีการเล่นหรือการพนัน "โดยใช้วิธีการสื่อสารที่ห่างกันโดยระยะทาง หรือส่งข้อความ ผ่านคลื่นความถี่วิทยุ ทางโทรศัพท์หรือผ่านระบบต่าง ๆ หรือวิธีอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกัน" เป็นความผิด และต้องระวางโทษ 2 เท่าของอัตราโทษสำหรับการเล่นพนันในสถานที่ปกติ เห็นได้ว่ามาตรการทางกฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มโทษแก่การกระทำที่มีฐานความผิดเดิมอยู่แล้วเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มิได้มีการสร้างข้อจำกัดทางกฎหมายในการวางกรอบกิจกรรมการพนันออนไลน์ที่ทำได้อย่างถูกกฎหมายหรือการวางระบบควบคุมและตรวจสอบการทำกิจกรรมการพนันออนไลน์แต่อย่างใด
- โควิด-19 กระตุ้นเว็บพนันระบาด
เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีเว็บพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่า โดยตั้งแต่ 1 ม.ค.–15 มี.ค. 63 มีเว็บพนันจำนวน 240 เว็บไซต์ แต่ในช่วงระหว่าง 16 มี.ค. – 31 พ.ค. พบว่า มีเว็บพนันออนไลน์เกิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากถึง 200 เว็บไซต์ รวมเป็น 440 เว็บไซต์
นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊คกว่า 167 ยูสเซอร์ ที่รับโปรโมทเว็บพนันออนไลน์ ประกอบด้วย บุคคลทั่วไปที่มีหลากหลายอาชีพบนโลกออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ และเน็ตไอดอล ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 200 คน ไปจนถึง 1.8 ล้านคน และ 109 แฟนเพจที่โปรโมทเว็บพนันออนไลน์ โดยแต่ละเพจมีผู้ติดตามตั้งแต่ 20 คน ไปจนถึง 2.1 ล้านคน เพจยอดนิยม ได้แก่ เพจคำคมหรือประโยคโดนใจวัยรุ่น เพจรถแต่ง-รถซิ่ง เพจโพสต์รูปสาวสวย หนุ่มหล่อ และเพจพนันออนไลน์โดยตรง
- เตือน "เยาวชน" กลุ่มเสี่ยง
นอกจากนี้ในเดือนเดียวกัน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ธุรกิจพนันออนไลน์ได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสทองในช่วงโควิด-19 ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องหยุดทำงานที่บ้าน หลอกล่อให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเล่นพนันออนไลน์ ในขณะที่หลายคนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ตกเป็นเครื่องมือในการโฆษณาด้วยการรีวิวให้เว็บพนัน เช่น คำพูดสวยหรูชวนเชื่อว่าเล่นแล้วมีเงินใช้ในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ลำบาก ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในช่วงใกล้เปิดเทอม หรือทำให้ภาคภูมิใจว่าสามารถหาเงินได้เองอย่างง่ายดาย เป็นต้น
ด้าน นางสาวเมธาวี เมฆอ่ำ กรรมการฝ่ายบริหาร สมาคมไอเซคผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนช่วงระบาดโควิด-19 เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ใช้เวลาในแต่ละวันกับการออนไลน์เฉลี่ย 6 ชั่วโมงขึ้นไป ร้อยละ 32.13 แต่ในช่วงอยู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.20 หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ และในระหว่างการออนไลน์ได้พบเห็นโฆษณาชวนให้เล่นพนันหรือเสี่ยงโชค เช่น ‘เล่นเกมได้เงิน’ ‘ลงทุนง่าย ได้เงินไว’ หรือ ‘กักตัวไม่กลัวจน’ มากถึงร้อยละ 70.06
ช่วงอายุที่พบเห็นโฆษณาชวนให้เล่นพนันหรือเกมพนันมากที่สุด คือ 15-19 ปี ร้อยละ 47.4 ส่วนช่องทางที่พบเห็นมากที่สุดคือ เฟซบุ๊ค ร้อยละ 76.53 รองลงมาคือเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นดูหนังฟังเพลง เล่นเกม ร้อยละ 70.64 และไลน์ ร้อยละ 32.50
"การพนัน 5 ประเภทที่เล่นมากที่สุด ได้แก่ ยิงปลา ร้อยละ 31.68 เพราะมีลักษณะไม่เหมือนการพนัน แต่เป็นการเล่นเกมที่มีโอกาสได้เงิน รองลงมาคือแทงหวย ร้อยละ 19.80, เกมสล็อต ร้อยละ 17.82, บาคาร่า ร้อยละ 15.84 และทายผลกีฬา ร้อยละ 14.85 ตามลำดับ ผลการเล่นพนันส่วนใหญ่คือร้อยละ 82.18 เสียมากกว่าได้ และน่าตกใจว่าจำนวนเงินที่เสียสูงสุดมากถึง 100,000 บาท น้อยที่สุดอยู่ที่ 7,000 บาท" นางสาวเมธาวี เผย
สำหรับทางออกในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย ดร.ภาณุพงศ์ แนะนำผ่านบทความว่า ถึงแม้จะมีความพยายามร่างกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมการพนันนั้น จะครอบคลุมถึงรูปแบบวิธีการพนันมากขึ้นและมีการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น แต่ในความเป็นจริงการควบคุม ปราบปรามหรือดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายกับการพนันออนไลน์นั้นยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากปัญหาเชิงเทคนิคทางคอมพิวเตอร์และมาตรการที่จะนำมาปรับใช้กับการพนันออนไลน์นั้นยังไม่ชัดเจน
"รัฐควรมีนโยบายและมาตรการควบคุมโดยเร็ว มิฉะนั้น จะทำให้มีผู้ใช้บริการในทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้สูงวัยเข้าใช้บริการของเว็บไซต์พนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของประเทศไทยได้"