ส.ค้าส่งฯห่วงโชห่วยเจ๊ง แนะรัฐอุ้มอัดฉีดใช้จ่าย
นายกฯสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ชี้สัญญาณกำลังซื้อรากหญ้าหดหาย ห่วงค้าส่ง-ค้าปลีกไตรมาส 4 อ่อนแอ วอนรัฐ คลอดนโยบายกระตุ้นกระเศรษฐกิจ อัดฉีดเงินเจาะใช้จ่ายร้านค้ารายย่อย ก่อนปิดกิจการ
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ประเมินสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้ว่า ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะประชากรฐานราก เพราะปีนี้ปริมาณพืชผลทางการเกษตรน้อยจากภัยแล้ง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยล็อกดาวน์ ธุรกิจหลายเซ็กเตอร์ขาดรายได้ รวมถึงร้านค้ารายย่อยที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่มีรายได้เหมือนเดิม
ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายจะกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังซื้อรอบใหม่ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งจะเป็นการแจกเงิน 3,000 บาท ให้ประชาชนซื้อสินค้าตามร้านค้ารายย่อย ตลาดนัด แผงลอยฯ ควรดำเนินการให้ชัดเจนและเจาะจงจริงๆ เพื่อเม็ดเงินกระจายสู่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีบ้าง จากโครงการที่ผ่านมา ล้วนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ นายทุนที่มีเงินทุนหนาได้รับประโยชน์
นอกจากนี้ จากการเดินทางไปสำรวจธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ร้านโชห่วยในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าผู้ประกอบการเผชิญความเหนื่อยยากอย่างมาก เพราะไม่มีรายได้อย่างอื่นมาพยุงกิจการนอกจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้เห็นความอ่อนแอของภาคธุรกิจอย่างมาก ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมา เงินไม่สะพัดและกระจายสู่ร้านค้าฐานราก ไม่นำพาต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ดังนั้นโครงการใหม่ที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ จึงเรียกร้องให้ผันสู่ร้านค้าย่อยโดยตรง เช่น ร้านโชห่วย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านนวดแผนไทย ร้านกาแฟโบราณเป็นต้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนต่อไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่เช่นนั้นร้านค้ารายเล็กอาจเจ๊งได้
“ตอนนี้ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยจะเจ๊งอยู่แล้ว แต่ต้องประคองธุรกิจต่อไป เพราะไม่มีอาชีพอื่น จึงต้องถูลู่ถูกังค้าขาย ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้านี้เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจช่วยรักษาไม่ให้พนักงานตกงาน มองว่าระบบธุรกิจรายใหญ่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งการคุมค่าใช้จ่าย ลดคน ธุรกิจของรายใหญ่เหมือนต้นไม้ใหญ่ หากเจอพายุฝนมาอยู่อยู่ได้ แต่รายเล็ก ฐานราก แค่เจอแดด ไม่ได้รับน้ำ ไม่นานก็ตาย ดังนั้นเงินที่อัดฉีดเข้าระบบให้รายย่อยจึงเหมือนฝนที่หล่อเลี้ยงธุรกิจ รัฐควรใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์ ในสภาวะที่ธุรกิจขาดสภาพคล่อง กระแสเงินสด”
สำหรับภาพรวมค้าปลีกค้าส่งปีนี้ ถือว่าได้รับผลกระทบหนักมากเมื่อเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง เนื่องจากโรคระบาดครั้งนี้ ส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการฐานราก รายย่อยจำนวนมาก แต่ปี 2540 ธุรกิจขนาดใหญ่กระทบหนัก และไม่ถึงรายย่อย ปัจจุบันสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทยมีสมาชิกราว 70-80 ราย ทั่วประเทศ แต่ละรายมีร้านค้าโชห่วยเป็นลูกค้าตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักหมื่นราย