‘ทียู’ เปิดประสบการณ์ใหม่ ดัน ‘ดีพฟู้ดเทค’ สร้างเครือข่าย

‘ทียู’ เปิดประสบการณ์ใหม่ ดัน ‘ดีพฟู้ดเทค’ สร้างเครือข่าย

“ไทยยูเนี่ยน” ชูเทรนด์อาหารแห่งอนาคตขานรับยุคนิวนอร์มอล อัดงบ 1 พันล้านบาทประกาศลงทุนด้าน “ฟู้ดเทคขั้นสูง” แนะอุตสาหกรรมอาหารต้องเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญอาหารสุขภาพผ่านการร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“การลงทุนกับสตาร์ทอัพยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นจึงยังไม่เห็นผลลัพธ์ แต่จากสถิติการลงทุนในสตาร์ทอัพที่สำเร็จจริงๆ มีไม่เกิน 30% และที่สำเร็จระดับสุดยอดมีไม่ถึง 10% ดังนั้น เป้าหมายการลงทุนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของผลตอบแทนทางการเงิน แต่เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องคอนเซปต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจหลักได้” ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู กล่าว

หนุนลงทุนตรง-สมทบกองทุน

บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากบอร์ดบริหาร 30 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อมาใช้ลงทุนกับสตาร์ทอัพในระยะ 3-5 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้วใน 3-4 บริษัทจากโครงการสเปซ-เอฟ โดย 2 บริษัทเป็นพัฒนาโปรตีนทางเลือกจากแมลง และยังได้ลงทุนในบริษัทจากสิงคโปร์ที่พัฒนาแป้งพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และบริษัทที่ใช้นวัตกรรมช่วยในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมันที่อยู่ในไทย

159966270365

“เราไม่ได้ลงทุนกับผู้ประกอบการในโครงการสเปซ-เอฟเพียงอย่างเดียว แต่เรายังทำงานกับกองทุนในสิงคโปร์ที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้วยเช่นกัน โดยคอนเซ็ปต์จะเป็นการลงทุนที่ไม่ได้เน้นเรื่องการควบคุมแต่เป็นเรื่องของการร่วมมือกัน เนื่องจากสตาร์ทอัพเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องกระจายการลงทุนให้มากแต่ขนาดการลงทุนจะเล็ก โดยเทรนด์ของเราในการลงทุนวันนี้จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นดีพฟู้ดเทค” ธีรพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอดขายของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโต 4.5% ส่วนที่ได้รับผลกระทบคืออาหารแช่แข็ง แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ เนื่องจากร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ กลับมาเปิดทำการตามปกติ และคาดหวังว่าจะเห็นการเติบโตเป็นบวกในปีนี้ ซึ่งในส่วนของยอดขายอาจจะไม่ได้โตมาก แต่ในส่วนของกำไรจากการดำเนินงานโตกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในส่วนของไทยยูเนี่ยนอยากจะเห็นการเติบโตทางด้านกำไรมากกว่ายอดขาย

159966299344

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อด้านต่างๆ คือ สถานการณ์โควิด-19 และการดูแลซัพพลายเชนในเรื่องของการจัดการผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด โดยความท้าทายต่อไปคือ เราจะสามารถทำอะไรได้อีกในปีหน้า จะใช้ประโยชน์หรือสร้างโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพราะทุกวันนี้โลกเกิดความสับสนค่อนข้างมากจึงต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

เร่งการเติบโตทางธุรกิจ

ธีรพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระแสเงินสดไม่มีปัญหาเนื่องจากสิ้นไตรมาส 2 อัตราหนี้สินต่อทุนลงไปต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 0.96 ครึ่งปีมีกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow) กว่า 7 พันล้านบาท เพราะฉะนั้น ในเรื่องของกระแสเงินสดถือได้ว่าค่อนข้างเข้มแข็งจากการดูแลการใช้จ่ายอย่างเข้มงวด และจะดำเนินการต่อจนถึงสิ้นปีนี้อย่างใกล้ชิด ทำให้มั่นใจได้ว่ากระแสเงินสดจะเข้มแข็งต่อเนื่อง

“ช่วงโควิด-19 เราลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก โดยงบประมาณในส่วนของแผนการลงทุนจากที่วางไว้ 4,900 ล้านบาทได้ปรับลดเหลือ 3,700 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายที่ลดลงก็ทำให้กำไรของเราดีขึ้นเช่นกัน ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกสามารถจ่ายเงินปันผลมากกว่าปีที่ผ่านมา 28%”

ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนเดินหน้าลงทุนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น น้ำมันปลาทูน่าสกัดเย็น แคลเซียมและคอลลาเจน ทั้งยังมองว่าโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารแบบใหม่ที่เป็นเรื่องของอาหารฟังก์ชั่นนอล และเทคโนโลยีห่วงโซ่คุณค่าจะเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นกลุ่มที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการลงทุนและขยายธุรกิจ แต่ธุรกิจในส่วนนี้แม้จะมีการเติบโตสูงแต่ต้องใช้เวลา และไม่สามารถทดแทนอย่างมีสาระสำคัญเทียบกับอุตสาหกรรมหลักของไทยยูเนี่ยน ซึ่งมีรายได้ประมาณ 1.3 แสนล้านบาทเฉลี่ยต่อปี

159966293144

“นวัตกรรมเป็นเรื่องของความร่วมมือ เนื่องจากเรามีทรัพยากรจำกัด จึงต้องยึดแนวทาง Open Innovation เกิดการร่วมมือและแชร์องค์ความรู้เพื่อให้ได้พลังที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เร็วขึ้น ลึกขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น ผ่านการเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมาร่วมเป็นพันธมิตรกัน ยกตัวอย่างโครงการสเปซ-เอฟที่ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงให้สามารถสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับให้ความสำคัญ New Mindset ที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อให้การผลักดันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

159966302327