ประชุมรมต.ต่างประเทศอาเซียนท่ามกลางความขัดแย้งสหรัฐ-จีน
อาเซียนเปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ หวังแสวงหาความร่วมมือต้านภัยคุกคามโลก ลดความขัดแย้งระหว่างสองคู่อริ “สหรัฐ-จีน” ที่พยายามสร้างอิทธิพลในภูมิภาค ด้านดอนเสนอตั้งกองทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีฟื้นจากโควิด
การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แบบออนไลน์ รวมถึงการประชุมที่เกี่ยวข้อง เปิดฉากแล้ววานนี้ (9 ก.ย.) โดยเวียดนามเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียน ในช่วงที่นานาประเทศกังวลกันมากเรื่องความขัดแย้งทั้งทางวาจาและที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญระหว่างสองมหาอำนาจโลก และประเทศอื่นๆ ที่กำลังติดร่างแหด้วย
นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวนฟุกของเวียดนาม แถลงเปิดการประชุมว่า บรรยากาศด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ในภูมิภาครวมทั้งทะเลจีนใต้ กำลังเกิดความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันตรายต่อสันติภาพและเสถียรภาพ
ขณะที่นายฟาม บินห์ มินห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า บทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศและสถาบันพหุภาคีกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก
นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เตือนสหรัฐและจีนไม่ให้ดึงชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของทั้งสองประเทศ
“เราไม่อยากติดกับดักความเป็นอรินี้” นางเรตโนเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ก่อนการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ก.ย. เธอระบุว่า อาเซียนไม่อยากเลือกข้าง ขณะเดียวกันการเพิ่มกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้ก็น่าเป็นห่วง
รอยเตอร์ระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐวิจารณ์จีนรุนแรงไม่ว่าจะเรื่องการค้า เทคโนโลยี และการปฏิบัติตัวในทะเล ยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกำลังใกล้เข้ามา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยิ่งโหมกระพือแนวทางแข็งกร้าวเข้าใส่จีน
รัฐบาลวอชิงตันกล่าวหาปักกิ่งว่ารังแกเพื่อนบ้านด้วยการส่งเรือมาใกล้ปฏิบัติการขุดเจาะน้ำมันของประเทศเหล่านั้น บางครั้งก็ซ้อมรบและทดสอบยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ใกล้ทำเลที่พิพาทกัน ในช่วงที่เพื่อนบ้านกำลังสาละวนกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่จีนตอบโต้สหรัฐว่าการกระทำของตนถูกต้องตามกฎหมาย
ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. สหรัฐกวนอารมณ์จีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการส่งเรือรบเข้ามาในทะเลจีนใต้ และช่องแคบไต้หวันที่เป็นพื้นที่อ่อนไหว ทั้งยังส่งเครื่องบินสอดแนมหนึ่งลำบินเหนือท้องฟ้าขณะจีนซ้อมรบด้วยกระสุนจริง
เท่านั้นยังไม่พอสหรัฐยังขึ้นบัญชีดำบริษัทจีน 24 แห่งโทษฐานเกี่ยวข้องกับการสร้างและทำกิจกรรมทางทหารบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้
นายคอลลิน โก๊ะห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา เอส ราชรัตนัมของสิงคโปร์กล่าวว่า อาเซียนไม่อยากเลือกข้างหรือถูกมองว่ากำลังเลือกข้าง แต่จะใช้วิธีหารือกับจีนเรื่องความคืบหน้าของแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่ล่าช้ามานาน รวมถึงการพัฒนาและเข้าถึงวัคซีนโควิด-19แทน ส่วนกับสหรัฐ อาเซียนจะเร่งเร้าให้อดทนอดกลั้นไม่ทำกิจกรรมทางทหาร แล้วให้บริษัทสหรัฐเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยที่ทั้งสองประเทศควรสนใจความเป็นคู่อริอย่างเข้มข้นให้น้อยลง
ที่น่าจับตาคือการประชุมเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากจีนซ้อมรบกระสุนจริงแล้วยิงขีปนาวุธในทะเลจีนใต้ และเป็นการประชุมแรกที่นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเข้าร่วมด้วย นับตั้งแต่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทจีนที่สร้างเกาะเทียมให้ปักกิ่งในน่านน้ำข้อพิพาท
ทั้งนี้ ทะเลจีนใต้ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรถูกจีนอ้างกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ทับซ้อนกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน
ความขัดแย้งล่าสุดระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์เรื่องเกาะปะการังสกาโบโรห์ เขตประมงอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้จะนำมาพูดคุยกันในเวทีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วย
นายปอมเปโอกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีก่อนการประชุมว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนรังแกเพื่อนบ้านอย่างรุนแรงเห็นได้ชัด
นักการทูตอาวุโสจากประเทศอาเซียนรายหนึ่งเผยว่า การแข่งอำนาจกันระหว่างสหรัฐกับจีนน่าจะบดบังประเด็นอื่นในการประชุม
“สหรัฐและจีนน่าจะใช้การประชุมนี้เป็นเวทีกล่าวหากัน” นักการทูตอาวุโสรายนี้ให้ความเห็น
นายแซคคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิทยาลัยสงครามแห่งชาติในกรุงวอชิงตันมองว่า การเจรจาเรื่องน่านน้ำข้อพิพาทไม่น่าจะมีความคืบหน้า
“จีนใช้ความช่วยเหลือโควิด-19 คำสัญญาเรื่องวัคซีน และการทดลองในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แสวงหาข้อได้เปรียบทางการทูตในการหารือเรื่องทะเลจีนใต้”
นอกจากนี้ที่ประชุมจะหารือเรื่องความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีด้วย หลังจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลเปียงยางและวอชิงตันเรื่องนิวเคลียร์เกาหลีเหนือหยุดชะงัก นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดระหว่างนายคิม จองอึน กับประธานาธิบดีทรัมป์ที่กรุงฮานอยล่มลงเมื่อปีก่อน
เรื่องการระบาดของโควิด-19 จะถูกนำมาหารือกันอย่างหนักหน่วงเช่นกัน หลังจากเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนเคยเตือนในการประชุมเมื่อเดือน มิ.ย.ว่า ความเสียหายจากโควิดกวาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาเซียนทำมาหลายปีไปหมด
ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เสนอให้จัดตั้งกองทุน Asean SMEs Recovery Facility เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19
“ไทยจะให้ความสำคัญกับการค้าพหุภาคีและภูมิภาคนิยมในการรับมือกับความท้าทายซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญในการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19” นายดอนกล่าว
นอกจากนี้ นายดอน พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 10 ชาติยังหารือถึงการเตรียมการประชุมระดับผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 รวมทั้งการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2025 และอนุมัติการแต่งตั้งรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมและบริหารอีกด้วย