'6 พรรคฝ่ายค้าน' ตบเท้าเข้ายื่น 'ชวน หลีกภัย' ขอเพิ่ม 4 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"6 พรรคฝ่ายค้าน" ตบเท้าเข้ายื่น "ชวน หลีกภัย" ขอเพิ่ม 4 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตซ์ ส.ว.-เลือกนายกฯ-ยกเลิกคำสั่ง คสช. กลับใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบตามรธน. 2540
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวสหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกลนายวันมูหะมัดนอร์ มะทาหัวหน้าพรรคประชาชาตินายนิคม บุญวิเศษหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พร้อมคณะ เข้ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา 4 ญัตติ ต่อนายชวน หลีกภัยประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยนายชวน กล่าวว่า ขณะนี้ญัตติของพรรคฝ่ายค้านญัตติแรก ได้บรรจุเข้าที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้แล้ว ส่วนฉบับของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยญัตติทั้ง 4 ที่เสนอในวันนี้ (10ก.ย.) จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรายชื่อ และรายละเอียดว่ามีความถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะบรรจุได้ทันในการพิจารณาในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ส่วนญัตติของพรรคก้าวไกลจากการตรวจสอบ พบว่ามีรายชื่อไม่ครบ ดังนั้น จึงถือว่าญัตติก็ต้องตกไป
ด้านนายชลน่าน ศรีแก้วส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.แก้ไขมาตรา 272 และ มาตรา 159 เพื่อยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเพิ่มเติมใน มาตรา 159 ว่า ในการเลือกนายกฯ หากไม่สามารถเลือกจากบัญชีของพรรคการเมือง ก็สามารถเลือกนายกฯ ที่เป็นจาก ส.ส.ได้ และปิดทางการเลือกนายกฯ จากคนนอก เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯในบัญชีของพรรคการเมืองได้
2.แก้ไข มาตรา 270, 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย 3.แก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ 4.แก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิก มาตรา 83, 85, 88, 90, 92 , 94 และ 105 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้บัตร 2 ใบ เลือกคนและเลือกพรรค เพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของประชาชนในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งตัดปัญหาบัตรเกิน บัตรเขย่ง ออกไปด้วย
สำหรับระบบเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยการเลือก ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะใช้รูปแบบเขตเดียว เบอร์เดียว อีกทั้ง การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้ระบบการกัน 5% หมายความว่าพรรคการเมืองใดที่จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้นั้น จะต้องมีจำนวนคะแนนเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5% จากจำนวนคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม คิดว่าการมีระบบการกัน 5% เอาไว้นั้น จะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหญ่ หรือทำลายพรรคการเมืองเล็ก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยข้อเสนอเหล่านี้ ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะอาจมีการอภิปราย และแก้ไขในชั้นของกมธ.วิสามัญของรัฐสภาได้
ด้านนายสุทิน คลังแสงประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มี ส.ส.ร่วมลงชื่อประมาณ 170 คน ซึ่งในส่วนของการแก้ไขกระบวนการเลือกนายกฯ จะกำหนดให้สภาฯเท่านั้น เป็นผู้เลือกจากบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ หากไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ จะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ในสภาฯ เสนอชื่อส.ส.ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามให้สภาฯ เลือกเป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสนายกฯ คนนอกไปโดยปริยาย